ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

"ด้วยพระบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น" น้อมรำลึก ๒๐ มิถุนายน ในหลวง ร.๙ เสด็จฯ เปิดโครงการแก้มลิง..ที่ชุมพร ช่วยราษฎรพ้นจากภัยน้ำท่วม (คลิป)

             เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541 เป็นวันกำเนิดของโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่เป็น โครงการตามพระราชดำริ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตเมืองชุมพร ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของชาวชุมพรในช่วงฤดูมรสุม สืบเนื่องจากอุทกภัยพายุไต้ฝุ่นซีต้า ในเดือนสิงหาคม 2540 ที่สร้างความเสียหายให้กับจังหวัดชุมพรเป็นอย่างมาก ประชาชนเสียชีวิต 28 คน ทรัพย์สินเสียหาย 2,110 ล้านบาท ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือน การก่อตัว พายุลินดา ทำให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงห่วงใยในความเดือดร้อนของชาวชุมพร ทรงมีพระราชดำริให้ขุดคลองหัววัง-พนังตัก เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำท่าตะเภาออกสู่ทะเล การขุดคลองหัววัง-พนังตัก แล้วเสร็จในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 ก่อนพายุ ลินดาเข้าเพียง 1 วัน และประชาชนรอดพ้นจากอุทกภัยน้ำท่วมเมืองชุมพร

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จมาทอด พระเนตรและประกอบพิธีเปิดโครงการฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541 ทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ประกอบด้วย การขุดลอกแก้มลิงหนองใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำ การขุดคลองละมุให้เชื่อมกับคลองท่าแซะ การติดตั้งประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ การติดตั้งระบบ เตือนภัยที่คลองท่าแซะ นับเป็นพระอัจฉริยภาพด้านวิศวกรรมชลประทาน ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองชุมพรและพื้นที่โดยรอบ รอดพ้น จากอุทกภัยน้ำท่วมต่อเนื่องมา 12 ปี ชาวชุมพรต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ดังคำกล่าวที่ว่า
“ด้วยพระเมตตาบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น”

"ด้วยพระบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น" น้อมรำลึก ๒๐ มิถุนายน ในหลวง ร.๙ เสด็จฯ เปิดโครงการแก้มลิง..ที่ชุมพร ช่วยราษฎรพ้นจากภัยน้ำท่วม (คลิป)

             จากการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ที่มีวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัยและเป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับการเกษตรของ ราษฎรแล้ว จังหวัดชุมพรเห็นว่า การพัฒนาเพื่อขยายผลโครงการเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ ถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่มีต่อพสกนิกรชาวชุมพร โดยเฉพาะการนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เครือข่ายจากภูผา สู่มหานที น้อมนำไปปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จ มาขยายผลเป็นศูนย์เรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเครือข่ายจากภูผา สู่มหานที มีเครือข่ายและศูนย์ฝึกอบรมทั่วทั้ง 8 อำเภอ ของจังหวัด ดำเนินการฝึกอบรมให้กับเกษตรกรในโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเกษตรกรผู้พักชำระหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์

              ในการขยายผลของศูนย์การเรียนรู้ฯ ได้นำความสำเร็จของการปฏิบัติมานำเสนอในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ของแต่ละอำเภอ สำหรับในวันนี้จะขอหยิบยกผลสำเร็จมานำเสนอเพียงแค่ 4 อำเภอ ดังนี้
อำเภอพะโต๊ะ เป็นการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำในรูปแบบคนอยู่ป่ายัง ซึ่งเป็นการดูแลรักษาป่าต้นน้ำของชุมชน ร่วมกับภาครัฐ โดยมีกฎระเบียบของชุมชนว่า จะต้องไม่มีการบุกรุกป่าเพิ่มเติม ให้ปลูกป่าเพิ่มเพื่อความมั่งคั่งยั่งยืน ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีการปลูกไม้เศรษฐกิจแซมในแปลงเกษตร เช่น ยางนา ตะเคียนทอง และมีการจัดสรรทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
อำเภอหลังสวน ดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงครบวงจร ลดต้นทุน 90% โดยใช้ธรรมชาติเป็นตัวขับเคลื่อน เป็นการปฏิบัติและเปรียบเทียบวิธีคิด วิธีทำ ให้ลดต้นทุนด้วยตัวเอง โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่ เช่น มูลวัว มูลไก่ ปลาป่น รำข้าว หัวเชื้ออีเอ็ม กากน้ำตาล นำมาผสมกัน จะได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง โดยใช้เวลาในการหมักปุ๋ย 15 วัน สามารถลดต้นทุนได้ถึง 20,000 บาท/ตัน
อำเภอทุ่งตะโก เป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เน้นการใช้พื้นที่ในแปลงเกษตรให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า 100% โดยมีการปลูกพืชหลักและพืชแซมพร้อมกับเลี้ยงสัตว์ ช่วยเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยเฉพาะการปลูกพืช 9 ชั้น เลียนแบบคอนโดมิเนียม ตั้งแต่ พืชน้ำ พืชหัว พืชผัก ไม้ยืนต้น และไม้เศรษฐกิจ ซึ่งการปลูกพืชผสมผสานระบบคอนโดจะช่วยป้องกันวัชพืชในแปลง ประหยัดพื้นที่/น้ำ/ปุ๋ย และประกันความเสี่ยงในด้านการลงทุน หากพืชชนิดใดชนิดหนึ่งไม่ให้ผลผลิต พืชชนิดอื่นที่เหลือ ก็จะสามารถทดแทนได้ ปัจจุบันการทำการเกษตรของลุงนิล (นายสมบูรณ์ ศรีสุบัติ) สร้างรายได้วันละประมาณ 700-1,000 บาท
อำเภอปะทิว มีแนวคิดในการส่งเสริมให้คนชุมพรปลูกข้าว ทำนา เพื่อการบริโภค โดยเฉพาะข้าวเหลืองปะทิว ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวนาพื้นเมืองของจังหวัดชุมพร และพันธุ์ข้าวไร่พื้นเมือง ซึ่งสามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีน้ำน้อย ทนต่อโรค โดยจังหวัดชุมพรมีพันธุ์ข้าวไร่พื้นเมืองอยู่ 9 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ภูเขาทอง พันธุ์เล็บนก พันธุ์ดอกขาม พันธุ์นางเขียน พันธุ์สามเดือน พันธ์นางครวญ พันธุ์ข้าวดำ พันธุ์ข้าวเหนียวกาดำต้นดำ และพันธุ์ข้าวเหนียวกาดำต้นเขียว และเพื่อเป็นการรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของจังหวัดชุมพรไม่ให้สูญพันธุ์ จึงได้มีการปลูกไว้ที่หนองใหญ่

 

"ด้วยพระบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น" น้อมรำลึก ๒๐ มิถุนายน ในหลวง ร.๙ เสด็จฯ เปิดโครงการแก้มลิง..ที่ชุมพร ช่วยราษฎรพ้นจากภัยน้ำท่วม (คลิป)

              นับตั้งแต่เปิดศูนย์เรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอ เพียง โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ในเดือนพฤศจิกายน 2552 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีผู้เข้ามาศึกษาดูงานซึ่งเป็นคนจังหวัดชุมพรและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งสิ้น 194 คณะ จำนวน 15,409 คน จำแนกเป็น ประชาชนทั่วไป 4,314 คน และนักเรียน/นักศึกษา 11,095 คน โดยจังหวัดชุมพร จะดำเนินการพัฒนาและบริหารจัดการให้เป็นศูนย์เรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอ เพียงที่มี ความสมบูรณ์ และสามารถถ่ายทอดการปฏิบัติให้เกิดความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนแก่คนชุมพรต่อไป

"ด้วยพระบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น" น้อมรำลึก ๒๐ มิถุนายน ในหลวง ร.๙ เสด็จฯ เปิดโครงการแก้มลิง..ที่ชุมพร ช่วยราษฎรพ้นจากภัยน้ำท่วม (คลิป)

         ในอดีตจังหวัดชุมพร จะเกิดอุทกภัยในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองชุมพร และบริเวณโดยรอบบ่อยครั้งโดยเฉพาะการเกิดมหาวาตภัยใต้ฝุ่นเกย์ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 สร้างความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนในจังหวัดชุมพร ต่อมาได้เกิดพายุโซนร้อน “ซีต้า” เมื่อวันที่ 18-22 สิงหาคม 2540 สร้างความเสียหายแก่ชาวชุมพรอย่างมาก และในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน กรมอุตนิยมวิทยาประกาศว่า มีพายุลินดาจะเคลื่อนเข้าฝั่งจังหวัดชุมพรอีกครั้ง สร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวชุมพร เป็นอย่างมาก ความทราบถึงเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงห่วงใยถึงความเดือดร้อนของชาวชุมพร จึงมีพระราชดำริเร่งรัดให้มีการขุดคลอง “หัววัง-พนังตัก” ระยะทาง 1,460 เมตร ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อจะได้ระบายน้ำลงสู่ทะเลก่อนที่พายุลินดาจะขึ้นฝั่ง โดยพระองค์ท่าน ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา 18,000,000 บาท และอีกส่วนหนึ่งจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เพื่อใช้ในการดำเนินงานป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ประกอบด้วย การขุดคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตัก การขุดลอกคลองท่าตะเภา คลองสามแก้ว คลองท่านางสังข์ การพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ (แก้มลิง) การก่อสร้างประตูระบายน้ำสามแก้วจนแล้วเสร็จ ซึ่งตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาเมืองชุมพรได้พ้นจากภัยพิบัติอุทกภัยมากว่า 10 ปี
              จังหวัดชุมพรมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้และมีกิจกรรมที่เป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตแสดง ความสำเร็จของเครือข่ายจากภูผาสู่มหานที ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปปฏิบัติจนเกิดผลเป็นรูปธรรม

 

 

ที่มาจาก : https://topapw.wordpress.com

ขอบคุณคลิปจาก : สำนักข่าวไทย