ติดตามเรื่องราวดีๆ ได้ที่ www.tnews.co.th

ประวัติพระครูนิมาการโสภณ

(หลวงพ่อครูบาสร้อย  ขนฺติสาโร)

วัดมงคลคีรีเขตร์  ตำบลท่าสองยาง  อำเภอท่าสองยาง  จังหวัดตาก

 เทพเจ้าแห่งท่าสองยาง บ้านมะตะวอ  อำเภอท่าสองยาง  จังหวัดตาก  เป็นพระอาจารย์ที่ได้รับการยกย่องจากลูกศิษย์ทั้งหลายว่า  เป็นหลวงพ่อที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งบ้านมะตะวอ  เป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อสุข  แห่งวัดโพธิ์ทรายทอง  จังหวัดบุรีรัมย์  เจ้าของรูปหล่ออันดับหนึ่งของภาคอีสาน และเป็นสหธรรมมิกกับหลวงปู่หงส์ พรหมปัญญา เทพเจ้าแห่งสุสานทุ่งมน จังหวัดสุรินทร์ เป็นอย่างมาก

 หลวงพ่อสร้อย  เป็นชาวละหานทราย  เกิดปีมะเส็ง  วันจันทร์ที่  ๑๐  กันยายน  พ.ศ. ๒๔๗๒  มีนามเดิมชื่อว่าสร้อย  นามสกุล  ศิริวรรณ์  บิดาชื่อ  นายวัน  ศิริวรรณ์  มารดาชื่อ  นางจรจศิริวรรณ์  บ้านโคกใหม่  หมู่ที่๑  ตำบลละหานทราย  อำเภอนางรอง  จังหวัดบุรีรัมย์  มีพี่สาวเพียงคนเดียว  ภายหลังท่านได้กำเนิดมาได้ ๗วัน  บิดาของท่านได้ถึงแก่กรรม  ต่อมาเมื่อท่านอายุได้ ๗ ขวบ  มารดาของท่านก็ได้ถึงแก่กรรมอีก  หลังจากนั้นท่านได้อยู่กับคุณยาย ซึ่งเป็นผู้ดูแลท่านตลอดเรื่อยมา  โดยปกติแล้วคุณยายเป็นคนที่ชอบเข้าวัดฟังธรรม  จึงพาท่านไปด้วยเสมอ  ทำให้ท่านใกล้ชิดกับวัด  นับตั้งแต่วัยเด็ก จนกระทั่งท่านเรียนจบประถม ๔  จึงได้ขออนุญาตคุณยายบวชเป็นสามเณร  ที่วัดชุมพร  ตำบลละหานทรายโดยมีหลวงพ่อมั่น  เป็นพระอุปัชฌาย์  หลวงพ่อสุข  วัดโพธิ์ทรายทองเป็นพระกรรมวาจาจารย์  และหลวงพ่อนุด  เป็นพระอนุสาวนาจารย์  เมื่อวันขึ้น๑๕ ค่ำ  เดือน ๖ พ.ศ.๒๔๙๔  ได้รับฉายาว่า  ขันติสาโร  หลังจากนั้นหลวงพ่อได้ไปอยู่กับหลวงพ่อสุข โพธิ์ทรายทอง  ในช่วงนั้นหลวงพ่อสุขได้ให้ท่านขึ้นครูกรรมฐาน โดยเน้นหนักในเรื่องปฏิบัติกรรมฐาน  หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า  ท่านปฏิบัติจนมีความสุข  บางทีถึงกับไม่ได้หลับได้นอน แต่ก็แปลกไม่ง่วงนอนแต่อย่างไรเลย  ต่อมาหลวงพ่อทองสุขได้สอนวิชาที่สำคัญให้กับท่านคือ  วิชาการตรวจดูบุญวาสนา  และเวรกรรมของผู้ป่วยเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ ให้กับผู้ป่วย  มีอยู่ครั้งหนึ่ง  ขณะที่ท่านปฏิบัติสมาธิอยู่บนศาลาได้มีอาการปวดศีรษะจึงขอหลวงพ่อสุขไปนอนเพื่อพักผ่อน  ในระหว่างนอนหลับ  วิญญาณของท่านได้หลุดจากร่างไปเหมือนมรณภาพไปได้ ๗ วันเต็ม  ในระหว่างนั้นหลวงพ่อสุขได้ทำพิธีช่วยพาวิญญาณท่านกลับมาเหมือนเดิม  ซึ่งเป็นวิชาเดียวกันกับที่ท่านได้ช่วยชีวิตเด็กชาวกระเหรี่ยงให้ฟื้นคืนชีพกลับคืนมาแล้ว หลวงพ่อท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์ทรายทองได้ ๒พรรษา  หลังจากนั้นได้มาศึกษาประวัติธรรมที่วัดกลางนางรองอีก๒ พรรษา

ต่อจากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗  หลวงพ่อกับพระอาจารย์ดำ  เจ้าอาวาสวัดกลางนางรอง  ได้เข้ามาสู่กรุงเทพฯ  เพื่อศึกษาอบรมวิปัสสนากรรมฐาน  ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์  โดยมีพระอาจารย์แฝ่ง  พระอาจารย์โชดก  เป็นอาจารย์ใหญ่ช่วยอบรมสั่งสอนได้ ๗ เดือน แล้วจึงลากลับสู่จังหวัดบุรีรัมย์  โดยอยู่จำพรรษาเป็นเพื่อนกับพระเล็ก  ที่วัดกลางนางรอง  เพราะท่านเจ้าอาวาสองค์ก่อนได้ลาสิกขาออกไปและท่านได้สอนอบรมธรรมปฏิบัติกับหมู่คณะที่มาปฏิบัติธรรม  จนหมดความสามารถของตนที่ได้ศึกษามา

ในช่วงธุดงค์  หลังจากออกพรรษา  จึงอำลาเจ้าคณะอำเภอนางรอง  คือ  พระครูสามารถ  วัดขุนก้อง  อำเภอนางรอง  พร้อมทั้งพระอธิการเล็ก  เพื่อออกจาริกธุดงค์  โดยมุ่งไปทางวัดสำโรง  ในระหว่างทางได้พักวัดหนองหมีและมาพักที่วัดสำโรงได้ ๒ คืน  ต่อจากนั้นเดินทางมายังวัดโพธิ์ทรายทอง  โดยมีพระติดตามอีก ๔ รูป  ได้มากราบหลวงพ่อสุข  ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ตอนที่หลวงพ่ออุปสมบทเป็นพระและได้พักที่วัดนั้นเป็นเวลา๓ คืน  หลังจากนั้นได้กราบลา หลวงพ่อสุขเพื่อออกเดินทางจาริกธุดงค์มุ่งหน้าต่อไป  เข้าสู่วัดชุมพร  เพื่อนมัสการหลวงพ่อมั่น  ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์  แต่อนิจจาหลวงพ่อมั่นได้มรณภาพไปแล้ว  ต่อจากนั้นธุดงค์ไปยังเขาพระวิหาร  และไปศรีษะเกษ, อุบลราชธานี, นครพนม, หนองคาย, อุดรธานี, ขอนแก่น, นครราชสีมา, เพชรบูรณ์, นครสวรรค์, อุตรดิตถ์, ลำปาง, ลำพูน  จนถึงเชียงใหม่ ในขณะที่ท่านอยู่จังหวัดเชียงใหม่ได้พบกับหลวงปู่แหวนและได้ขอศึกษาวิชาจากหลวงปู่แหวนอีกด้วย  หลังจากนั้นได้ลาหลวงปู่แหวนไปแม่สะเรียง  จังหวัดแม่ฮ่องสอนต่อ  โดยจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีบุญเรือง

เข้าสู่ท่าสองยาง  หลังจากออกจากวัดศรีบุญเรืองแล้วมุ่งหน้าเข้าสู่อำเภอท่าสองยาง  โดยผ่านเส้นทางนับว่าลำบากมาก  โดยผ่านทางจากตำบลแม่กะต่วน (ซึ่งตรงกับวันขึ้น๖ ค่ำ  เดือน ๘ พ.ศ.๒๔๙๘)  จนมาถึงบ้านท่าเรือแม่ระมา  ต่อจากนั้นได้ต่อเรือมาถึงบ้านแม่วะหลวง  ซึ่งเป็นอันว่าเข้าเขตอำเภอท่าสองยางแล้ว จากนั้นเดินทางมาถึงบ้านซอแขระ จนกระทั่งถึงวัดท่าสอง อำเภอท่าสองยาง  จังหวัดตาก  ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘

อำนาจจิตลึกล้ำ..บำเพ็ญเพียรใต้ต้นตะเคียน ท่ามกลางเสียงร้องที่โหยหวน "หลวงพ่อครูบาสร้อย วัดมงคลคีรีเขตร์"แม้ลูกระเบิดตกในวัด..ยังด้าน..

เมื่อมาถึงวัดท่าสองยางแล้ว  หลวงพ่อได้พบกับพระรูปหนึ่ง  ชื่อครูบาเสือ  หรือชาวบ้านเรียกตุ๊เจ้าเสือ  จำวัดอยู่เพียงรูปเดียว  ซึ่งวัดนี้ยังไม่มีกุฏิ  มีเพียงกระต๊อบเก่าๆเท่านั้น  ในบรรดาศรัทธาของชาวบ้านท่าสองยางนี้  เมื่อเห็นหลวงพ่อมาถึงวัดนี้  จึงพากันมาเที่ยวหาหลวงพ่อประมาณ ๔-๕ คน  และถามหลวงพ่อว่าท่านจะไปไหน  หลวงพ่อตอบว่า “อาตมาภาพจะไปที่ แม่ระมาดและแม่สอด แต่จะขอพักที่วัดนี้สักหนึ่งคืนพรุ่งนี้  อาตมาจะเดินทางต่อไป”  คืนนั้นหลวงพ่อได้สนทนากับครูบาเสือพอสมควรและขอให้ครูบาเสือหาคนให้เพื่อนำทางส่ง  แต่ครูบาเสือท่านกลับไปบอกกำนันจันทร์  แสนไชย  ครูปลั่ง  คำใส  ลุงนนท์  เรืองใจ  หมู่สมมะโนวงศ์  หมอสิงทอง  วงศ์นิล  ลุงดำ  ซึ่งกลุ่มชาวบ้านเหล่านี้และอีกหลายคนได้มาขอให้หลวงพ่อจำพรรษาที่วัดนี้  เมื่อหลวงพ่อเห็นว่าคณะศรัทธาทุกคน  มีเจตนาที่ดีในทางพุทธศาสนา  หลวงพ่อจึงตัดสินใจรับนิมนต์ของคณะศรัทธาของชาวบ้านและจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ตลอดเรื่อยมา  จนทำให้มีคณะศรัทธาต่างๆหลายคณะมาทำบุญที่วัดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น  วันลอยกระทง  วันสงกรานต์  เป็นต้น  ต่อจากนั้นมาในปี พ.ศ.๒๕๐๐  ได้มีคณะศรัทธาทายก  ทายิกา  ได้นำเด็กมาฝากไว้เป็นศิษย์ ๑๐ คน  เพื่อจะบวชเรียนเป็นสามเณร  ทำให้หลวงพ่อต้องเดินทางไปขอใบใบอนุญาตบรรพชา อุปสมบท สามเณร  ซึ่งในครั้งนี้ได้แสดงถึงความตั้งใจ  ความอดทน  และอดกลั้น  ด้วยความมุ่งมานะของหลวงพ่อกว่าจะได้ไปขออนุญาตมาต้องเดินทางไปที่หลายแห่งใช้เวลาหลายวัน  โดยเริ่มจากไปที่แม่ต้านแล้วไปแม่ระมาด  และเข้าตัวเมืองอำเภอแม่สอด  และยังได้ไปกราบครูบากัญไชย  ที่วัดมาตานุสรณ์ อำเภอแม่สอด  ได้พูดคุยกันและขออนุญาตจำวัตรที่นั่นหนึ่งคืน  ซึ่งครูบากัญชัยได้ให้การหลวงพ่อเป็นอย่างดี  ได้พูดกับหลวงพ่อว่า

 “ท่านไม่ต้องเกรงใจอะไรหรอกเราถือกันแบบเป็นกันเองเถอะ  เพราะเราเป็นลูกของพระพุทธเจ้าเดียวกัน”  คำพูดนี้เป็นคำพูดที่ออกมาจากใจของครูบากัญไชย  ทำให้หลวงพ่อรู้สึกเย็นซาบซ่าไปตามตัวเลยทีเดียว  ต่อจากนั้นได้เดินทางเข้าสู่แม่สอดไปพบกับเจ้าคณะอำเภอและไปหาท่านเจ้าคุณที่วัดมณีไพรสณฑ์  จนได้รับการอนุญาตในการบวชพระบวชเณร  ซึ่งในการเดินทางไปขอแต่ละครั้งแต่ละที่ต้องผ่านขั้นตอนอุปสรรคต่าง ๆนานานับประการ ต้องผ่านทางทุรกันดารและไกลมาก  แต่หลวงพ่อคิดอยู่ในใจว่า  เมื่อเราไม่ได้รับอนุญาตกลับไป  ศรัทธาของคนผู้จะบรรพชาจะเสียและของที่จะทำทานก็จะเสียทั้งสิ้น  อีกทั้งจะเสียพระพุทธศาสนาอีกด้วย  เมื่อหลวงพ่อกลับไปที่วัดท่าสองยาง เมื่อได้ใบอนุญาตมาแล้วจึงทำการ บรรพชาสามเณร ๕ รูป  และได้อุปสมบทพระภิกษุ ๒ รูป  ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เสร็จพิธีบรรพชาอุปสมบทและทำบุญเป็นปฐมฤกษ์แล้ว  นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  คนทั้งหลายในหมู่บ้าน  ทั้งท่าสองยาง  แม่ต้าน  แม่สะเรียง  ค่อย ๆ รู้จักวัดและตัวหลวงพ่อมากขึ้น

หลวงพ่อได้อยู่ที่วัดแห่งนี้ได้พัฒนาวัดให้มีความเจริญเป็นอย่างมาก  เช่น  ได้สร้างกุฏิขึ้นใหม่  มีการปรับปรุงที่ดินวัด  ทำรั้ววัด  ทำถนนไปสู่หมู่บ้าน  และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๓  ทางคณะสงฆ์และเจ้าคณะอำเภอแม่ระมาด  ท่าสองยาง  จังหวัดตาก  ได้มีมติเอาวัดท่าสองยางเข้าบัญชีในเขตการปกครองของอำเภอท่าสองยาง  จังหวัดตาก  และท่านก็ตั้งชื่อวัดนี้ใหม่ว่า  วัดมงคลคีรีเขตร์เป็นต้นมา

 ช่วงชีวิตบั้นปลาย  หลวงพ่อสร้อยท่านได้ตรากตรำทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงวัยชรา  จนกระทั่งวันที่  ๒๔  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๕๔๐  ลูกศิษย์ได้พาท่านไปทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาลนครธน  พระราม ๒  จนถึงวันที่  ๑๔  มกราคม  พ.ศ. ๒๕๔๑  และหลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ  จ.สุรินทร์ ท่านได้มาเยี่ยมหลวงพ่อและในนิมิตเห็นว่า  หลวงพ่อสร้อยท่านได้กระโดดจากเตียง  และได้กล่าวกับหลวงปู่หงษ์ว่า  จะขอลาแล้ว  ขอลามรณภาพจะได้ไหม  ซึ่งหลวงปู่หงษ์ท่านก็นิ่งแล้วเดินทางกลับ  ต่อจากนั้นวันที่  ๑๗  มกราคม  พ.ศ. ๒๕๔๑  หลวงพ่อสร้อยได้เรียก  พระลูกวัดที่อยู่ที่นั้นมารวมตัวกันและกล่าวว่า  “ต่อไปเราจะไม่ได้เจอกันอีกแล้วนะ  ให้ปฏิบัติตัวกันให้ดีขยันทำงาน  มีอะไรก็ทำไป  ให้ประหยัด  และอดทนทุกคนนะ”  ต่อมาวันที่๑๘  มกราคม  พ.ศ. ๒๕๔๑  หลวงพ่อได้สั่งให้ลูกศิษย์  นับเงินที่ลูกศิษย์ร่วมกันมาทำบุญกับท่านเพื่อเตรียมเป็นค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาล  ซึ่งทำความประหลาดใจและตกใจให้กับลูกศิษย์ของหลวงพ่อเป็นอย่างมาก  เนื่องจากอาการของหลวงพ่อยังไม่หายและแถมอาการยังจะทรุดหนักขึ้นเรื่อย ๆ แต่หลวงพ่อจะออกจากโรงพยาบาล  พอช่วงกลางคืนวันที่  ๑๘ มกราคม  พ.ศ.๒๕๔๑ หลวงพ่อได้สำลักเสมหะ ท่านได้เข้าสมาธิ ในช่วงเวลาตี ๓ถึง ตี ๔  และพระทุกรูปได้ร่วมกันนั่งสมาธิภาวนาอยู่ที่หน้าห้องของหลวงพ่อจนถึงเวลา ๐๗.๑๙ น.  ของวันที่  ๑๙ มกราคม  พ.ศ. ๒๕๔๑  หลวงพ่อท่านได้ถึงมรณภาพลง  สร้างความโศกเศร้าให้กับบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง สิริอายุ ๖๙ ปี  เหลือไว้แต่คุณงามความดีของหลวงพ่อที่ทำไว้  และยังคงประทับอยู่ในหัวใจของลูกศิษย์ทุกๆคน

อำนาจจิตลึกล้ำ..บำเพ็ญเพียรใต้ต้นตะเคียน ท่ามกลางเสียงร้องที่โหยหวน "หลวงพ่อครูบาสร้อย วัดมงคลคีรีเขตร์"แม้ลูกระเบิดตกในวัด..ยังด้าน..

อำนาจจิตลึกล้ำ..บำเพ็ญเพียรใต้ต้นตะเคียน ท่ามกลางเสียงร้องที่โหยหวน "หลวงพ่อครูบาสร้อย วัดมงคลคีรีเขตร์"แม้ลูกระเบิดตกในวัด..ยังด้าน..

เหตุการณ์และประสบการณ์ที่สำคัญของหลวงพ่อครูบาสร้อย

๑.   ในช่วงออกเดินธุดงค์เข้าไปในป่าเขาดงกันดารกับหลวงพ่อสุข  วัดโพธิ์ทรายทอง  ขณะที่เป็นสามเณรอยู่  ผจญกับฝูงควายป่าอย่างจัง ๆ แต่ก็พ้นอันตรายมาได้ด้วยพลังจิตของหลวงพ่อที่กล้าแข็งมาก  และในช่วงที่ท่านธุดงค์มาอยู่ที่ป่าช้าร้าง  ที่วัดมงคลคีรีเขตร์  ซึ่งตอนนั้นยังเป็นวัดร้างอยู่  ท่านมาปักกรดอยู่ที่โคนต้นตะเคียนในป่าช้าซึ่งเป็นที่ตั้งเผาศพของชาวมะตะวอ  สมัยสามสิบกว่าปีที่แล้ว  บ้านมะตะวะน่ากลัวมาก ยิ่งเมื่อตอนที่ท่านมาอยู่ใหม่ ๆ ท่านได้เคยโดนลองวิชาจากพวกที่เล่นคุณไสยดำ  ขนาดเอาเลือดหมาดำมาสาดใส่ท่านเพื่อจะทำให้วิชาอาคมของท่านเสื่อม  แต่ปรากฏว่าหลวงพ่อได้ใช้อำนาจพลังจิต  พลังอิทธิอาคมของท่านป้องกันไว้  และไม่สามารถทำอันตรายท่านได้แม้แต่อย่างใด  บางคืนชาวบ้านมะตะวอจะได้ยินเสียงผู้หญิงร้องไห้กันโหยหวน  บางครั้งวิญญาณของหญิงสาวมานั่งอยู่ที่ต้นตะเคียนแต่หลวงพ่อไม่เคยหวาดหวั่นเกรงกลัวอันใด  ท่านยังคงปฏิบัติบำเพ็ญเพียรศีลของท่านไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งชาวบ้านพากันมาอาราธนานิมนต์ท่านให้มาอยู่ข้างบนวัด  ในคืนก่อนที่ท่านจะไป จากโคนต้นตะเคียนที่ท่านพำนักปักกลดอยู่วิญญาณที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นตะเคียนได้ส่งเสียงไห้อย่างโหยหวน  เสียใจที่ท่านจะไป  ตอนเช้าเมื่อท่านมาบิณฑบาตในหมู่บ้าน  ชาวบ้านถามท่านว่า  เมื่อคืนได้ยินเสียงคนร้องไห้ในป่าช้า  ใครร้องไห้  หลวงพ่อตอบด้วยอาการสำรวมว่า  “ต้นไม้ร้องไห้”  พอท่านขึ้นมาอยู่ข้างบนวัด  ต้นตะเคียนต้นนั้นก็หักโค่นลงทันทีในวันนั้น  ซึ่งซากตะเคียนต้นนั้นยังอยู่มาจนทุกวันนี้  เมื่อหลวงพ่อมาอยู่ข้างบนวัดก็มีความวิตกอยู่ว่า  บนวัดล้วนเต็มไปด้วยหินก้อนใหญ่มาก  และจมอยู่ในดินลึกมาก  จะทำอย่างไรดี  ขณะที่ท่านนั่งคิดอยู่นั้น  ก็ได้ปรากฏวิญญาณของหญิงสาว๒ คน  นุ่งห่มผ้าสไบเฉียงนั่งพนมมืออย่างนอบน้อม  บอกว่าเป็นวิญญาณที่ได้รักษาดูแลสถานที่นี้มาช้านานแล้ว  จะมาช่วยสร้างวัด  ขอให้ท่านสร้างวัดนี้ด้วย  หลวงพ่อบอกว่า  ท่านคงทำไม่ไหว  เพราะเต็มไปด้วยก้อนหินใหญ่ ๆ ทั้งนั้น  วิญญาณเจ้าที่ทั้งสองนางบอกท่านว่า  ไม่ต้องกลัวหรอก  ถ้าท่านจะทำก็จะให้ควายเหล็กมาขวิดเอาหินพวกนี้ออกไปให้เอง  หลังจากนั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็ปรากฏว่าทางราชการได้เอารถไถไปไถเอาก้อนหินเหล่านั้นออกไปให้จนหมด  เป็นควายเหล็ก  ช่วยมาขวิดให้จริง ๆ

๒.       เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของท่านนั้นเป็นที่เลื่องลือกันมาช้านานที่บ้านมะตะวอ  ซึ่งเป็นบ้านในท้องถิ่นที่กันดาร  ติดกับชายแดนพม่า  พื้นที่ตรงนั้นมักเกิดการสู่รบยิงถล่มกันอยู่เสมอ  ระหว่างพม่ากับชาวกะเหรี่ยง  เวลายิงกันผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดก็คือชาวบ้านและเด็ก ๆ ทั้งหลายที่อาศัยอยู่ใกล้ ๆบริเวณ วัด  เคยมีเด็กนักเรียนไปอาศัยหลบอยู่ใต้ถุนกุฏิของหลวงพ่อ  ท่านจะไม่ยอมจำวัดไม่ยอมฉันอาหาร  แต่ท่านจะกำหนดจิตเอาสายสิญจน์มาขึงล้อมรอบบริเวณวัดและบริเวณกุฏิของท่าน  แล้วท่านจะเดินจงกลมรอบ ๆ นั้น  ชาวบ้านมะตะวอทุกคนยืนยันกันว่า  มีลูกระเบิดหลายลูกยิงเข้ามาตกในบริเวณวัด  ระเบิดทุกลูกที่ตกลงมานั้นทุกลูกด้านหมด  ไม่ระเบิดแม้แต่ลูกเดียว  เหมือนสมัยสงครามโลกครั้งที่สองหรือสงครามอินโดจีน  เครื่องบินพันธมิตรได้บอมประเทศไทยหลายจุด  หลายแห่ง  เกจิฯ ชื่อดังหลายรูปในยุคนั้นมีด้วยกันหลายรูป ซึ่งบางรูปได้บริกรรมคาถา  บางรูปใช้ธงโบกไม่ให้ลูกระเบิดตกลงในบริเวณวัดก็มี  หรือตกลงในวัดลูกระเบิดด้านหมด  แสดงว่าให้เห็นว่าหลวงพ่อครูบาสร้อย  เป็นเกจิ ที่ไม่ใช่ธรรมดารูปหนึ่งที่  สามารถสะกดลูกระเบิดได้เหมือนกัน

อำนาจจิตลึกล้ำ..บำเพ็ญเพียรใต้ต้นตะเคียน ท่ามกลางเสียงร้องที่โหยหวน "หลวงพ่อครูบาสร้อย วัดมงคลคีรีเขตร์"แม้ลูกระเบิดตกในวัด..ยังด้าน..

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ เจ้าของบทความ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้

http://www.viangrahaengtak.com/

เพื่อเผยแผ่กิตติคุณเป็นสังฆบูชา