"มาร์ค" ร่าย 3 ข้อขยี้ร่างรธน. "ฉบับปราบโกง" - ชี้ต้องแก้ไขอีกเพียบ !!

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" โพสต์เฟซฯแสดงความคิดเห็นถึงร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผล 3 ข้อ ทั้งการปราบทุจริต สิทธิเสรีภาพประชาชนถูกลดทอน และสิทธิเสรีภาพประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง - แนะเปิดใจรับฟังความเห็นของนักการเมืองและประชาชน ...

 


วันนี้ (5 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ค "Abhisit Vejjajiva" แสดงความคิดเห็นถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานการร่างฯ ว่า

 

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ผมปรารถนาที่จะเห็นรัฐธรรมนูญที่จะบังคับใช้ต่อไปมีความยั่งยืน เป็นกติกาที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อให้ประเทศเดินหน้า แก้ปัญหาในอดีต และเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ

 

ผมขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคมร่วมกันแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์เพื่อปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญฉบับเบื้องต้นให้บรรลุวัตถุประสงค์ต่างๆ ข้างต้น การเผชิญหน้าโดยนำกระบวนการประชามติมาเป็นเกมการเมืองไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติโดยส่วนรวมและฝ่ายใดทั้งสิ้น เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบการประชามติเนื่องจากประชาชนไม่มีทางเลือก ก็จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นปมความขัดแย้งของประเทศไทยต่อไปอีกหลายปี ซึ่งประเทศไทยได้เสียเวลามามากพอแล้วกับปัญหาทางการเมือง ในทางตรงกันข้าม หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการประชามติก็จะเป็นปัญหาต่อไป ทั้งในส่วนของแรงกดดันที่จะมีต่อคสช. และความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นทางการเมืองในวงกว้าง

 

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการจากนี้ไป โดยต้องเปิดใจกว้างรับฟังข้อติติงต่างๆ เพื่อปรับปรุงให้ร่างรัฐธรรมนูญที่จะเสนอต่อประชาชนในการประชามติเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ประชาชนลงมติรับอย่างเต็มใจ อันจะนำมาสู่ความชอบธรรมและความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญต่อไป

 

ในส่วนของกระบวนการทำประชามตินั้น รัฐบาลและคสช. ควรเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อให้ประชาชนทราบทางเลือกในการลงประชามติอย่างชัดเจน

 

สำหรับเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญในเบื้องต้น ผมมีข้อสังเกตและความเห็นดังต่อไปนี้

 

๑. ขอสนับสนุนการเพิ่มความเข้มข้นในมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในทุกรูปแบบที่ปรากฏอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการเข้มงวดเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองและการเพิ่มโทษแก่บุคคลที่ทุจริตในการเลือกตั้งและใช้อำนาจในทางไม่ชอบ รวมไปถึงการเข้มงวดเรื่องวินัยการเงินการคลังด้วย

 

อย่างไรก็ดี ควรมีการปรับปรุงเพิ่มเติมกลไกเกี่ยวกับการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐและตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยกลไกต่างๆ เช่น การระบุให้มีกระทู้ถามสดในสภาผู้แทนราษฎร การเพิ่มบทบาทของฝ่ายค้านในการดำรงตำแหน่งรองประธานสภาและประธานคณะกรรมาธิการที่สำคัญบางคณะ การโต้แย้งการใช้อำนาจรัฐในการปรับพระราชกำหนดที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง เป็นต้น

 

ที่สำคัญกระบวนการพิจารณากรณีเกี่ยวกับการทุจริตจะอยู่ที่องค์กรอิสระและศาลเป็นหลัก จึงต้องมีหลักประกันในการตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรต่างๆ เหล่านี้ด้วย การให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นประธานรัฐสภาใช้ดุลพินิจในการที่จะดำเนินการกับกรณีที่ ป.ป.ช. ใช้อำนาจในทางมิชอบ เป็นตัวอย่างของจุดอ่อนหรือช่องโหว่ในการออกแบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีอยู่ในร่างปัจจุบัน

 

๒. ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการเขียนรัฐธรรมนูญให้ประชาชนถูกลดทอนสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมในทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การไม่กำหนดให้กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพต้องระบุที่มาของอำนาจในการจำกัดสิทธิเสรีภาพนั้น การลดสิทธิของประชาชนในด้านสวัสดิการต่างๆ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข รวมไปถึงสิทธิของเด็ก ผู้พิการและผู้สูงอายุ การลดสิทธิในการชุมนุม การฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สิทธิของผู้ทำหน้าที่สื่อมวลชนในภาคเอกชน

 

ที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับร่างเบื้องต้น มิได้ระบุกระบวนการการใช้สิทธิของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ไม่ระบุให้มีองค์กรอิสระที่ดูแลในเรื่องของการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ไม่ระบุให้มีองค์กรอิสระด้านการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งไม่รักษาสิทธิของประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายในการมีตัวแทนในกระบวนการพิจารณาของร่างกฎหมายดังกล่าว และมีการลดทอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกรณีที่มีการเจรจาหนังสือสัญญาที่มีความสำคัญในด้านต่างๆ กับต่างประเทศ

 

ผมยืนยันว่าบทบัญญัติเหล่านี้ที่เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ มิได้เป็นปัญหาอุปสรรคอันนำไปสู่วิกฤติทางการเมืองก่อนหน้านี้แต่อย่างใด จึงสมควรนำบทบัญญัติเหล่านี้กลับมาบรรจุใหม่ อันจะเป็นการช่วยให้สังคมโดยรวมมีความโปร่งใส มีการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะสนับสนุนการลดทอนการทุจริตและการใช้อำนาจในทางมิชอบของผู้มีอำนาจอีกด้วย

 

๓. ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทบทวนบทบัญญัติที่เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง ซึ่งทำให้ระบบการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรออกแบบระบบการได้มาซึ่งวุฒิสภาที่สมควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง มิใช่เป็นการเลือกกันเองระหว่างผู้สมัครในกลุ่มต่างๆ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อกระบวนการวิ่งเต้นเจรจา เพราะแม้วุฒิสภาจะมีอำนาจลดลงแต่ก็ยังเป็นสภาที่ให้ความเห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการปราบการทุจริต

 

เช่นเดียวกัน หากมีความจำเป็นที่จะถอยจากหลักประชาธิปไตยที่นายกรัฐมนตรีควรเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็ควรจะกำหนดเงื่อนไข เช่น การใช้มติพิเศษของที่ประชุมสภาในยามวิกฤต มิใช่เปิดช่องให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยสามารถดำรงตำแหน่งสูงสุดให้ฝ่ายบริหารได้เป็นกรณีทั่วไป ที่สำคัญนายกรัฐมนตรีคนนอกของรัฐธรรมนูญฉบับร่างนี้ ไม่มีคุณสมบัติของการเป็นคนกลางเนื่องจากจะต้องได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้น

 

สำหรับระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมนั้น ถือเป็นระบบที่มีความเป็นสากล แต่มีข้อสังเกตว่าการใช้บัตรใบเดียวโดยถือเป็นคะแนนทั้งของบุคคลและพรรคจะทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างเที่ยงธรรม มีการแข่งขันที่รุนแรง รวมไปถึงการซื้อเสียงที่จะมีมากขึ้น และจะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรอยู่ตลอดเวลา ในกรณีที่ยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งในบางเขตเลือกตั้ง หรือในกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่และมีการเพิกถอนสิทธิของผู้สมัคร

 

นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติในอีกหลายมาตราที่สมควรจะได้มีการชี้แจงหรือปรับปรุง เช่น การอนุญาตให้ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ สามารถปฎิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนได้โดยที่ยังไม่ต้องถวายสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ บทบัญญัติที่ให้อำนาจหัวหน้าคสช. แม้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาความขัดกันของกฎหมายและเกิดการโต้แย้งเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการใช้อำนาจดังกล่าว รวมไปถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการปฏิรูปที่ยังขาดความเป็นรูปธรรมชัดเจน

 

สำหรับรายละเอียดข้อเสนอแนะต่างๆ จะได้ดำเนินการทำหนังสือถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต่อไป

 

ขอยืนยันว่าทางออกที่ดีที่สุดของประเทศไทยขณะนี้ คือการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนให้ความเห็นชอบ อันจะนำไปสู่ความชอบธรรมและความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญต่อไป ประเทศไทยจะได้ก้าวเข้าสู่ยุคของการปรับโครงสร้างและปฏิรูปประเทศให้สามารถแข่งขันได้ มีระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง เสมอภาค และประชาชนมีความเป็นอยู่และหลักประกันที่ดี

 

ผมพร้อมที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวมเป็นที่ตั้งต่อไป

 

 

 

 

"มาร์ค" ร่าย 3 ข้อขยี้ร่างรธน. "ฉบับปราบโกง" - ชี้ต้องแก้ไขอีกเพียบ !!