ชัดครบทุกประเด็น!!! "วิษณุ"  ยืนยันใช้คำสั่งปกครองเรียกชดใช้ค่าเสียหายจำนำข้าวได้  "ยิ่งลักษณ์-บุญทรง" หยุดตะแบงค้านต้องใช้ช่องทางอื่นสู้คดี ??

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

       ถือเป็นอีกครั้งที่กลุ่มบุคคลในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และระบายข้าวจีทูจี  รวมถึงเครือข่ายระบอบทักษิณได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับใช้คำสั่งทางปกครองเพื่อดำเนินการใช้คำสั่งทางปกครองเรียกชดใช้ความเสียหายอันเนื่องมาจากการดำเนินการดังกล่าว  ในช่วงที่การใช้คำสั่งเริ่มจะมีผลเป็นรูปธรรม

 

       โดยเฉพาะกรณีของนายนพดล หลาวทอง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ที่เห็นว่าการออกคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม  ด้วยเหตุผลดังนี้  1.เป็น การรวบรัดหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้กระบวนการพิจารณาโดยศาลยุติธรรมปกติ แต่กลับตัด ตอนใช้วิธีคำสั่งทางปกครองให้รับผิดทันทีแทนการฟ้องคดีต่อศาล 2.เป็นการชี้นำการ พิจารณาคดีอาญาที่อยู่ระหว่างการพิจาร ณาคดีของศาลและคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งที่ยังพิจารณาคดียังไม่เสร็จสิ้น 3.การกระทำที่ฝ่าฝืนกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทาง การเมือง คือการพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องนี้ต้องกระทำโดยเสมอกันหรือเสมอภาคโดยกระบวนการยุติธรรมทางศาลเช่นเดียวกันจะเลือกปฏิบัติบางรายผ่านศาลบางรายไม่ผ่านศาลไม่ได้

         

         นอกจากนี้ 4.การออกคำสั่งที่ 56/ 2559 จึงไม่มีความจำเป็น เป็นการข้ามขั้นตอนและเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นอย่างมาก เพราะในการดำเนินการในเรื่องนี้ ได้มีการกำหนดแนวทางการใช้มาตรการบังคับทางปกครองอยู่แล้ว และ 5.อำนาจหน้าที่ของกรมบังคับคดีได้ถูกบัญญัติไว้โดยกฎหมายอย่างชัดเจนแล้วว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีในสังกัดของกรมบังคับคดีมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการในฐานะเจ้าพนักงานของศาล เพื่อดำเนินการบังคับคดีตามคำสั่งของศาลยุติธรรม การออกคำสั่งนี้ จึงมีลักษณะเป็นการก้าวล่วงและก้าวก่ายไปใช้อำนาจหน้าที่ของกรมบังคับคดีที่เป็นอำนาจสั่งการของศาลยุติธรรม จึงไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมเป็นอย่างยิ่ง

 

      รวมถึงนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์   ที่ประกาศไม่ยอมรับการใช้มาตรา 44 คุ้มครองผู้ปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการเรียกค่าเสียหายจากการระบายข้าวจีทูจี  โดยการขู่จะดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับทุกคนที่เกี่ยวข้องจนกว่าจะถึงที่สุด

      อย่างไรก็ตามกับประเด็นเหล่านี้   ในส่วนของรัฐบาลและผู้รับผิดชอบเคยได้อธิบายมาแล้วหลายครั้ง   โดยเฉพาะเมื่อวันที่  16  พ.ย.  2558  หรือ เมื่อประมาณ  10  เดือนที่ผ่านมา   นายวิษณุ เครืองาม   รองนายกรัฐมนตรี  ซึ่งแถลงอธิบายขั้นตอนการใช้คำสั่งทางปกครองไว้อย่างชัดเจนดังนี้

 

1.นายกฯ และรัฐมนตรี ถือว่าเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ที่อยู่ในอำนาจของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ หรือไม่

 

พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ มาตรา 4 ให้นิยาม “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ว่ารวมถึง “ข้าราชการ” ด้วย ซึ่งตามหลักกฎหมายทั่วไป นิยามของคำว่าข้าราชการจะหมายรวมถึงข้าราชการพลเรือนและข้าราชการการเมือง ด้วย โดยข้าราชการการเมืองนั้นหมายรวมถึงนายกฯ รัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี ฯลฯ ด้วย ดังนั้น นายกฯ และรัฐมนตรีจึงถือเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามกฎหมายนี้

 

2. จะสามารถออกคำสั่งทางปกครองกับนายกฯ และรัฐมนตรีได้หรือไม่ เพราะตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 4 (3) กำหนดข้อยกเว้น มิให้ออกคำสั่งทางปกครองกับนายกฯ และรัฐมนตรีในงานทางนโยบายโดยตรง

มีคนอ้างว่ามาตรานี้ทำให้ออกคำสั่งทางปกครองกับนายกฯ ไม่ได้ ซึ่งเป็นจริงว่าเรื่องนโยบายใครจะไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ ไม่ว่านโยบายนั้นจะดีหรือแย่อย่างไร ข้าราชการจะไปโต้แย้งไม่ได้ ฟ้องศาลไปก็ไม่รับ แต่หากเป็นการนำนโยบายไปปฏิบัติแล้วมีการกระทำที่มิชอบ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เลือกปฏิบัติ หรือทุจริตคอร์รัปชัน สามารถฟ้องร้องต่อศาลหรือออกคำสั่งทางปกครองได้ ที่ผ่านมานโยบายจำนำข้าวก็ไม่มีหน่วยงานใดที่ไปบอกว่านโยบายผิด แต่ผิดที่การดำเนินการ ซึ่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ไม่ได้ยกเว้น

 

3. เมื่อดำเนินการทางอาญาด้วยการฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว เหตุใดยังต้องมีการดำเนินการทางแพ่งอีก

 

เหมือนกับคำพูดว่าจองล้างแล้วทำไมยังต้องไปจองผลาญอีก ถ้ามองจากมุมมนุษยธรรมก็อาจจะถูก แต่ถ้ามองในมุมของกฎหมาย เป็นเรื่องที่รัฐต้องปฏิบัติตามตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 73/1 ไม่เช่นนั้นอาจมีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติตามหน้าที่ตาม ป.อาญา มาตรา 157 แล้วคนในรัฐบาลชุดนี้อาจจะถูกถอดถอน ฟ้องร้อง หรือรับผิดทางแพ่งแทนผู้ถูกกล่าวหา

 

4. เหตุใดรัฐถึงเลือกใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ แทนการฟ้องร้องต่อศาล

 

ทั้ง 2 วิธีเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งมิใช่วิถีเถื่อนหรือนวัตกรรมใหม่ นับแต่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ มาตั้งแต่ปี 2539 มีการออกคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายไปแล้วกว่า 5 พันเรื่อง จึงเป็นเรื่องที่ปฏิบัติมาอยู่แล้ว เรื่องนี้ข้าราชการต่างรู้ว่าหากมีการกระทำที่สร้างความเสียหายต่อรัฐจะต้องใช้วิธีการนี้   แต่นักการเมืองกับประชาชนทั่วไปอาจจะไม่ชิน ทำให้ออกมาตั้งคำถาม ระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา หากเจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดต่อรัฐเกือบ 100% จะใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครอง มีน้อยมากที่จะฟ้องร้องต่อศาล เช่น กรณีนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในปี 2540 ที่มีการปฏิบัติตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ จนเกือบจะออกคำสั่งทางปกครองอยู่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่มั่นใจสุดท้ายก็ไปยื่นฟ้องร้องต่อศาลแทน

 

5. อายุความ

ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ กำหนดให้มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการกระทำผิดและตัวผู้กระทำผิด ซึ่งได้แก่วันที่ ป.ป.ช. ส่งหนังสือให้หน่วยงานราชการ ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง ในวันที่ 17 และวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ตามลำดับ ดังนั้น อายุความจะสิ้นสุดลงในวันที่ 17 และ 18 กุมภาพันธ์ 2560

 

6. มีการออกคำสั่งทางปกครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐชดใช้ความเสียหายทางแพ่ง นับแต่ปี 2539 มาแล้วกี่คดี

กรมบัญชีกลางได้รวบรวมข้อมูลพบว่า นับแต่ปี 2539 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2558 มีการออกคำสั่งทางปกครองเรียกชดใช้ค่าเสียหายมาแล้วกว่า 5 พันเรื่อง แบ่งเป็น ระหว่างปี 2539-2553 มี 3,097 เรื่อง ปี 2554 มี 335 เรื่อง ปี 2555 มี 117 เรื่อง ปี 2556 มี 114 เรื่อง ปี 2557 101 เรื่อง และปี 2558 จนถึงวันนี้ มี 76 เรื่อง หลายเรื่องยุติหลังออกคำสั่งทางปกครอง คือผู้ถูกกล่าวหายอมจ่ายเงิน แต่หลายเรื่องมีการยื่นฟ้องศาลปกครอง

 

7. ที่มีข้อโต้แย้งว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 กำหนดว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ต้องให้ “หัวหน้าส่วนราชการ” เป็นผู้ลงนาม แต่สำหรับ “นางสาว ย.” ที่เคยมีตำแหน่งเป็นนายกฯ ไม่ได้สังกัดส่วนราชการใด การใช้ระเบียบสำนักนายกฯ นี้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงจึงมิชอบ

 

ถ้าไปดูชุดขาวปรกติของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงแต่ละคน จะเห็นว่าไม่ได้มีตราสัญลักษณ์ว่าอยู่ในสังกัดกระทรวงนั้นๆ แต่อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ไม่ได้มีตราสัญลักษณ์นกวายุภักดิ์ของกระทรวงการคลัง ส่วนราชการสำหรับรัฐมนตรีแต่ละคนรวมถึงนายกฯ คือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีหัวหน้าส่วนราชการคือนายกฯ ดังนั้น ในคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของนางสาว ย. จึงให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลงนามร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว

 

8. ระยะเวลาในการดำเนินการ

การดำเนินการในส่วนกระทรวงการคลัง ขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างพิจารณาของ “คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง” เท่านั้น โดยกฎหมายให้ระยะเวลาดำเนินการ 120 วัน และขยายเวลาได้ครั้งละ 30 วันตามความจำเป็น  และอาจพิจารณาขยายเวลาได้ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ส่วนกระทรวงพาณิชย์ มีความคืบหน้ากว่า เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาของ “คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง” แล้ว   ทั้งนี้กฎหมายไม่มีกำหนดว่าคณะกรรมการแต่ละชุดจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ระยะเวลาเท่าใด มีเพียงอายุความว่าต้องทำให้เสร็จภายใน 2 ปีนับแต่วันที่รับรู้การกระทำผิดและผู้ที่กระทำผิด หรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560  และส่วนตัวคิดว่าทั้ง 2 กรณีจะต้องทำให้แล้วเสร็จในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน เพราะมีข้อเท็จจริงบางอย่างที่เกี่ยวพันกันอยู่