ไม่รู้คิดได้ไง !!"หมอวรงค์" ลั่นฉะ “ทนายปู” อย่ายกคดี"จำนำข้าว"เทียบคดี"ป้องค่าเงินบาท" เชื่อศาลไม่เล่นด้วย

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th

"หมอวรงค์" ไล่บี้ “ทนายยิ่งลักษณ์” ดันทุรังปั่นกระแส"นายหญิง"ถูกกลั่นแกล้ง ระบุจะนำ"คดีจำนำข้าว"ที่มีการท้วงติงเรื่องการทุจริตจากหลายหน่วยงานกับคดีปก"ป้องค่าเงินบาท"ไม่ได้ เชื่อศาลไม่คุ้มครองโครงการทุจริต
         
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายนพดล หลาวทอง ทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เปรียบเทียบคดีจำนำข้าว กับคดีปกป้องค่าเงินบาทของนายเริงชัย มะระกานนท์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ดำเนินการแล้วขาดทุน แต่ศาลฎีกายกฟ้องว่า จะสังเกตได้ว่าทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ละความพยายามที่จะให้สังคมเข้าใจผิดในเรื่องจำนำข้าว เพียงหวังเพื่อให้เข้าใจว่าถูกกลั่นแกล้ง โดยประการแรก อ้างว่ากรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์และนายเริงชัย มีการคิดกำไรขาดทุนและเกิดจากการดำเนินนโยบายเหมือนกันนั้น ซึ่งสองเรื่องนี้มีความต่างกันคือ ที่ผ่านมามีการทักท้วง ตักเตือน การดำเนินนโยบายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จากหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องการทุจริต เท่ากับว่าเม็ดเงินที่จ่ายลงไปไม่ถึงมือชาวนาทั้งหมด ส่วนที่ไม่ถึงมือชาวนา มีการทุจริตเกิดขึ้น รวมทั้งมีการปล่อยให้มีการทุจริตการระบายข้าวแบบจีทูจีด้วย ความเสียหายนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ แต่ในส่วนคดีของนายเริงชัย ไม่ปรากฏว่า มีหน่วยงานราชการ ตักเตือน ท้วงติงเรื่องการทุจริตตั้งแต่ต้น และตลอดการดำเนินการ ก็ไม่มีการกล่าวหาพบการทุจริตเพื่อหาประโยชน์ ซึ่งต่างกับโครงการรับจำนำข้าว

นพ.วรงค์ กล่าวอีกว่า ประการที่สอง เขาอ้างว่าศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานแล้วว่า การปฏิบัติหน้าที่ต่อการตัดสินใจ ในด้านนโยบายนั้นแม้จะต้องสูญเสียเงินไป ก็ไม่ถือเป็นความเสียหาย ไม่สามารถคิดเป็นกำไร ขาดทุนได้ ซึ่งตนเห็นว่าเรื่องการดำเนินนโยบายที่ต้องสูญเสียนั้น ทุกฝ่ายเห็นด้วย เพราะทุกนโยบายต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณ แต่การดำเนินนโยบายที่เอื้อไปสู่การทุจริต รวมทั้งมีการเตือนว่ามีการทุจริตก็ไม่เคยสนใจ ส่วนนี้ต่างหากที่เป็นปัญหา และเชื่อว่าศาลฎีกาท่านไม่คุ้มครองการทุจริต
         
ประการที่สาม เขาอ้างว่ารัฐบาลนี้กลับไม่ให้ความเป็นธรรมต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะจะใช้วิธีออกคำสั่งทางปกครองกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตนขอแจงว่าการออกคำสั่งดังกล่าว มีพ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่มารองรับ การดำเนินคดีจำเลยแต่ละคนก็ต้องดูความเหมาะสมต่อรูปคดี ไม่ใช่ปล่อยให้จำเลยเป็นคนเลือกว่าขอขึ้นศาลไหนก็ได้ ที่สำคัญศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนว่า คดีความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่จากการปฏิบัติหน้าที่ ที่ใช้อำนาจตามกฎหมาย อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจรับคดีนี้ไว้พิจารณา ดังนั้นถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็สามารถอุทธรณ์ต่อศาลปกครองได้

นพ.วรงค์ กล่าวต่อไปว่า ประการที่สี่ เขาอ้างว่าการออกคำสั่งตาม มาตรา 44 เช่น จะให้กรมบังคับคดี ยึด อายัดทรัพย์ ขายทอดตลาด โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม เป็นการเจาะจงใช้เฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งที่จริงแล้วสิ่งที่ต้องเข้าใจในกรณีนี้ การใช้มาตรา44 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการดังกล่าว หากเป็นไปตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ แม้ไม่มีมาตรา 44 การยึด อายัดก็เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ โดยคำสั่งดังกล่าวเพียงแค่ให้กรมบังคับคดี มาทำหน้าที่แทนกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น ไม่ได้ใช้อำนาจพิเศษใดๆ กลั่นแกล้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่สำคัญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีสิทธิ์ที่ขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองได้ โดยเรื่องนี้ทุกภาคส่วนต้องติดตาม คดีจำนำข้าวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการบิดเบือนข้อเท็จจริงตามที่บางฝ่ายถนัด ซึ่งคาดว่าการบิดเบือนดังกล่าวจะร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง ในช่วงมีการลงนามคำสั่งทางปกครองคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวงเงิน 35,717ล้านบาท เร็วๆ นี้