อย่างนี้เรียกเป็นธรรมมั๊ย!!! ปปช.ยกคำร้องกล่าวหายิ่งลักษณ์ละเมิดกฎหมายปปช.+สุกำพลปลดอภิสิทธิ์ ...สรุปไม่มีมูลผิด!!?!!

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

       แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ   แต่ปปช.ก็ยังทำหน้าที่อย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย  ล่าสุดมีรายงานว่า   คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติยกคำร้องที่มีต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  และ  พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต  อดีต รมว.กลาโหม

 

      เริ่มจากการยกคำร้องข้อกล่าวหา   น.ส.ยิ่งลักษณ์   กรณีประธานวุฒิสภาส่งคำร้องขอให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 โดยมาตรา 103/8 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 103/7 โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ

 

     ทั้งนี้จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำนักงาน ป.ป.ช.มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ปช 0028/0053 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2554   ถึงนายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ผู้ถูกกล่าวหา เรื่อง การให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้ และการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ผู้ถูกกล่าวหามีบัญชาให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบตามมาตรา 103/8 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 โดยจัดเข้าวาระการประชุมในวันที่ 13 ธันวาคม 2554

 

     และคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันดังกล่าว ได้พิจารณาความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มาประกอบ แล้วมีมติให้หน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารเร่งรัดจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างให้สอดคล้องกับกฎระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันโดยเคร่งครัด และมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องนี้ และความเห็นของสำนักงบประมาณไปประกอบการพิจารณาดำเนินการตามโครงการนำร่องตามแนวร่วมปฏิบัติต่อต้านทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วนต่อไป ทั้งนี้ให้คำนึงถึงการดำเนินการตามรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว จะต้องไม่เป็นปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน

         

     สำนักงาน ป.ป.ช. จึงมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ปช 0028/0015 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ถึงนายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) อีกครั้งเพื่อขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554    โดยยืนยันว่ามติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรา 103/7 วรรคหนึ่ง หลังจากนั้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0505/6806 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2555 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอความเห็นกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวและมีความเห็นปรากฏตามเรื่องเสร็จที่ 663/2555 สรุปได้ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติตามมาตรา 103/7 วรรคหนึ่งได้ สิ่งที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเป็นเพียงมาตรการที่เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 19 (11) เท่านั้น

     ต่อมาคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 ให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงบประมาณ และสำนักงาน ก.พ.ร. ไปหารือร่วมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและหาวิธีการแนวทางในการปฏิบัติเพื่อตอบสนองมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลและคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากมีความจำเป็นจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎ ระเบียบ หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป และหลังจากได้เข้าหารือร่วมกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว   

 

      คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2556 ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือปฏิบัติตามแนวทางการเปิดเผยราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการตามที่กระทรวงการคลังกำหนดและแนวทางการเปิดเผยราคากลางเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างประเภทอื่นที่มิใช่งานก่อสร้างตามมติที่ประชุมหารือระหว่างกระทรวงการคลังและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้งนี้หากหน่วยงานใดมีความพร้อมให้ดำเนินการได้ทันที ส่วนหน่วยงานใดที่ยังไม่มีความพร้อมให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 103/8 วรรคหนึ่ง

         

     คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 103/7 และมาตรา 103/8 ตามคำร้องขอให้ถอดถอน

 

      คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ให้ส่งรายงานไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาต่อไป ทั้งนี้ตามมาตรา 54 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

     นอกจากนี้ปปช.ยังมีมติยกคำร้อง  กล่าวหา พล.อ.อ.สุกำพล กรณีแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการบรรจุเข้ารับราชการ การขึ้นทะเบียนกองประจำการ และแต่งตั้งยศทหารของ ร.ต.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีคำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์ ออกจากราชการโดยมิชอบ รวมทั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการได้สอบสวนกรณีบรรจุเข้ารับราชการ และแต่งตั้งยศทหารของ ร.ต.อภิสิทธิ์ โดยมิชอบ

 

    โดยจากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าช่วงก่อนที่พล.อ.อ.สุกำพล จะเข้ามาดำรงตำแหน่งรมว.กลาโหม ได้มีผู้ร้องเรียนเพื่อขอให้ถอดยศของนายอภิสิทธิ์ และเรียกคืนเงินเดือนและเบี้ยหวัด ต่อมาเมื่อพล.อ.อ.สุกำพล เข้ามาดำรงตำแหน่งแล้ว จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้น ซึ่งได้ข้อสรุปว่าเอกสารต้นขั้วใบสำคัญ (แบบ สด.๙) ลงวันที่ 4กรกฎาคม 2529 แบบ สด.1 และ แบบ สด.27 ฉบับจริง ทั้ง 3 ฉบับ

         

    มีข้อความถูกต้องตรงกันว่า นายอภิสิทธิ์ เข้าบัญชีทหารกองเกิน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 แต่ในการขึ้นทะเบียนทหารกองประจำการ ได้ใช้เอกสารใบสำคัญ (แบบ สด.9) (แทนฉบับที่ชำรุดสูญหาย) ลงวันที่ 8เมษายน 2531 ไม่ใช่ฉบับลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 ในการขึ้นทะเบียน จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ทำให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ เพื่อดำเนินการต่อไป

 

     รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการดังกล่าว ได้มีการหารือข้อกฎหมายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนการปฏิบัติราชการและผ่านสายการบังคับบัญชาตามปกติ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 5มาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 2551 การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ เป็นไปตามกรอบอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามคำสั่งแต่งตั้ง

 

     โดยมีการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องของเอกสาร มีการนำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา มีการพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และมีการให้สิทธินายอภิสิทธิ์ ได้เข้าชี้แจงข้อมูลต่อคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ หากไม่สามารถมาให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ ได้ ก็สามารถยื่นเป็นเอกสารหลักฐานได้ และไม่มีการคัดค้านบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ แต่อย่างใด ซึ่งไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานมาโดยไม่ชอบแต่อย่างใด

         

     “ขณะนั้น นายอภิสิทธิ์ ยังเป็นนายทหารนอกราชการ สังกัดจังหวัดทหารบกกรุงเทพ ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม จึงเป็นนายทหารประเภทที่ ๕ ตามข้อบังคับทหารฯ และสามารถถูกดำเนินการทางวินัยและถูกปลดออกจากราชการได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 มาตรา 5 และตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการบรรจุ ปลด ย้าย เลื่อน และลดตำแหน่งข้าราชการกลาโหม พ.ศ.2502 ข้อ 4 (2) ซึ่งผลการสอบสวนของคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการฯ ปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ ได้กระทำผิดวินัยทหารร้ายแรง ขณะอยู่ในราชการ จึงเสนอให้สมควรปลดออกจากราชการ และในการเสนอคำสั่งปลดออกจากราชการ ก็เป็นไปตามขั้นตอนโดยผ่านผู้บังคับบัญชาตามสายงานปกติ ประกอบกับศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาแล้วว่าคำสั่งที่ให้ปลดออกจากราชการเป็นคำสั่งโดยชอบแล้ว”

         

      คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่พล.อ.อ.สุกำพล แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการสอบสวน และการมีคำสั่งปลดนายอภิสิทธิ์ ออกจากราชการ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป