เกร็ดความรู้ !!! ตำแหน่ง "สมเด็จพระสังฆราช" เริ่มครั้งแรกในสมัยใด ???

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

สมเด็จพระสังฆราชเป็นสมณฐานันดรหรือสมณศักดิ์สูงสุดในการปกครองคณะสงฆ์ไทยเป็นตำแหน่งที่มีมาคู่กับคณะสงฆ์ไทยตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยมาและเป็นอิสริยยศแห่งพระสงฆ์ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานเพื่อเป็นเครื่องราชสักการะ ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็นยอดแห่งสมณศักดิ์ทั้งมวล เพราะเป็นตำแหน่งสกลมหาปริณายก ทรงปกครองคณะสงฆ์และคณะสงฆ์อื่น  ดังนั้นสมณศักดิ์คือฐานันดรศักดิ์ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งและเลื่อนถวายเฉพาะแด่พระสงฆ์ผู้ทรงศีลและมีความรู้ความสามารถเป็นพิเศษมีความประพฤติดีปฏิบัติชอบ และประกอบศาสนกิจเป็นปริตานุหิตประโยชน์แก่พระศาสนาและประเทศชาติโดยอเนกประการ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะส่งเสริมให้พระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์ได้มีอุตสาหะวิริยะในการประพฤติดีปฏิบัติชอบและประกอบศาสนากิจให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เรื่องสมณศักดิ์ก็เช่นเดียวกับเรื่องราวอื่นๆ    มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมก็เช่นนี้เรื่อยไป แต่เดิมในสมัยกรุงสุโขทัย มีเพียง ตำแหน่ง สังฆราช
ปู่ครู ครั้นมาถึงปัจจุบันนี้ชั้นยศสมณศักดิ์ของพระสงฆ์มีเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมของกาลสมัย
 

ความเป็นมาของสมณศักดิ์
              ประวัติความเป็นมาของพระราชพิธีตั้งและเลื่อนสมณศักดิ์ถวายแด่พระสงฆ์นั้น น่าเชื่อได้ว่าจะมีขึ้นที่ประเทศลังกาก่อนเป็นแห่งแรก เพราะมีปรากฏอยู่ในหนังสือรามัญสมณวงศ์ ว่า
            “ พ.ศ. ๒๑๐๘ พระเจ้ารามาธิบดี กรุงหงสาวดี (พม่า) มีพระประสงค์จะรวมพระสงฆ์ในรามัญประเทศ ซึ่งแตกต่างลัทธิกันอยู่เป็นหลายพวกให้เป็นนิกายเดียวกัน จึงส่งพระเถระเมืองหงสาวดีออกไปบวชแปลงที่เมืองลังกา เมื่อพระเจ้าภูวเนกพาหุ พระเจ้ากรุงลังกาทรงจัดการให้พระมอญเหล่านั้นได้บวชแปลงสมปรารถนาแล้ว มีรับสั่งให้นิมนต์เข้ารับพระราชทานอาหารบิณฑบาตในพระราชวัง เมื่อทรงประเคนไทยธรรมเสร็จแล้ว มีรับสั่งแก่พระเถระเหล่านั้นว่าการที่พระราชทานไทยธรรมต่าง ๆ ถึงจะมีมากมายสักเท่าใดก็จะไม่ปรากฏพระเกียรติยศถาวรเท่ากับพระราชทานนามบัญญัติ เพราะไทยธรรมทั้งหลายย่อมกระจัดกระจายพลัดพลายหายสูญได้ แต่ส่วนราชทินนามนั้นย่อมปรากฏถาวรอยู่ตลอดอายุขัยของพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย มีรับสั่งดังนี้แล้วจึงพระราชทานทินนามแก่พระมอญที่ไปบวชแปลง ๒๒ รูป คือตั้ง พระโมคคัลลานเถระให้มีนามว่า พระสิริ
สังฆโพธิสามิ และ พระมหาสีวลีเถระให้มีนามว่า พระติโลกคุรุสามิ เป็นต้น”  (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ: 2466 ; 8)
          สมณศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินกรุงลังกาทรงตั้งถวายแด่พระสงฆ์ลังกานั้น แยกออกเป็น ๒ ประเภทคือ
๑.     มหาสวามี เป็นชั้นสูงที่ถวายแด่พระมหาเถระซึ่งหมายถึงพระมหาสังฆนายก ที่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจและหน้าที่สูงสุดที่เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ในลังกา
๒.     สวามี เป็นสมณศักดิ์ชั้นรองลงมาหมายถึงพระมหาเถระที่มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ระดับรองลงมาจากมหาสวามี
            สำหรับประเทศไทย พระราชประเพณีตั้งราชทินนามเป็นสมณศักดิ์ถวายแด่พระสงฆ์ผู้ทรงคุณธรรมและได้ปฏิบัติศาสนกิจเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาและประเทศชาติ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้กำลังใจให้พระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์ได้ประพฤติดีปฏิบัติชอบและประกอบศาสนกิจให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จึงมีมานานแล้วตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นต้นมา โดยเฉพาะสมัย พระมหาธรรมราชา (ลิไท) ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ณ กรุงสุโขทัย พระองค์ได้โปรดให้ราชบุรุษไปอาราธนาพระมหาสวามีสังฆราชแต่ลังกาทวีป เพื่อให้มาประกาศพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกา ให้มาเจริญแพร่หลายในกรุงสุโขทัย พระมหาสวามีสังฆราช ท่านคงจะได้นำระเบียบแบบแผน ประเพณีและพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาบางอย่างที่ใช้ปฏิบัติอยู่ในลังกาขณะนั้นมาเผยแพร่ โดยเฉพาะสมณศักดิ์ น่าเชื่อถือได้ว่าท่านคงจะได้ถวายพระพรให้พระมหาธรรมราชา(ลิไท)ทรงตั้งสมณศักดิ์ถวายแด่พระสงฆ์ (พระเมธีธรรมาภรณ์: ๒๕๓๖; ๑๔) ผู้ทรงคุณวุฒิ มีปรีชาสามารถ มีศีลาจารวัตรดีงามและปฏิงานในหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์โดยความเรียบร้อยสมควรได้รับการยกย่อง จากนั้นเป็นต้นมาพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาได้รับการประดิษฐานตั้งมั่นในประเทศไทยสืบต่อมาโดยลำดับ แม้ปัจจุบันนี้ตำราภาษาบาลีที่คณะสงฆ์กำหนดให้พระภิกษุสามเณรศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่ชั้นประโยค ๑ – ๒ ถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค ล้วนแต่เป็นตำราภาษาบาลีที่แต่งขึ้นในประเทศลังกาเกือบทั้งสิ้น
 

ประเภทของสมณศักดิ์
            สมณศักดิ์ที่องค์พระประมุขของชาติ ทรงตั้งถวายแด่พระสงฆ์ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบตามธรรมวินัย เพื่อเป็นการยกย่องคุณงามความดีที่พระสงฆ์รูปนั้นได้บำเพ็ญมาให้ปรากฎแก่สายตาของประชาชนเป็นบำเหน็จความดีความชอบที่พระสงฆ์ได้ทำการเป็นประโยชน์แก่ชาติและศาสนา เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วมีอยู่ ๒ ประเภท คือ
          ๑.  สมณศักดิ์ที่เกี่ยวกับความรู้ สมณศักด์ประเภทนี้ทรงตั้งถวายเฉพาะพระภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรมตั้งแต่ ป.ธ. ๓ – ๙ ประโยคเรียก เรียกว่าทรงตั้งเปรียญ แต่ละประโยคมีพัดยศกำกับ โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณรผู้สอบได้เปรียญ ๖ ประโยค และ ๙ ประโยค ทางกรมการศาสนาจะนิมนต์ให้เข้ารับพัดยศและประกาศนียบัตรจากองค์พระประมุขของชาติ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามก่อนวันวิสาขบูชา
๑ วัน เป็นประจำทุกปี
          ๒.  สมณศักดิ์เกี่ยวกับผลงาน  สมณศักดิ์ประเภทนี้แบ่งออกเป็น ๒ ระดับ คือ พระครูสัญญาบัตร และ
พระราชาคณะ ซึ่งเป็นอำนาจและหน้าที่โดยตรงของมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจและหน้าที่สูงสุด
ในการปกครองคณะสงฆ์ จะทำการพิจารณาเป็นเบื้องต้นว่า พระสังฆาธิการรูปใดมีความเหมาะสมที่จะได้รับ
พระราชทานตั้งและเลื่อนให้ดำรงสมณศักดิ์ชั้นใด จากนั้นก็จะเสนอรายชื่อพระสังฆาธิการเหล่านี้ขึ้นไปโดย
ลำดับ จนกระทั่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานตั้งและเลื่อนให้ดำรงสมณศักดิ์ชั้นต่าง ๆ
 

ระบบสมณศักดิ์มีวัตถุประสงค์สำคัญ ๒ ประการ คือ
๑.     เพื่อยกย่องสนับสนุนพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติชอบ ให้ดำรงอยู่ในสมณเพศ เพื่อเป็นกำลังสืบต่ออายุ
พระพุทธศาสนา
          ๒.  เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้การที่พระมหากษัตริย์พระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์รูปใด จะทรงมอบหมายภาระหน้าที่ในการปกครองหมู่คณะแก่พระสงฆ์รูปนั้นไปพร้อมกันด้วย
 

สมัยกรุงสุโขทัย ใช้พระนามว่า “พระสังฆราช”
          สำหรับประเทศไทย พระราชประเพณีตั้งราชทินนามเป็นสมณสักดิ์ เริ่มมีตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี คำปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลักที่ ๑ ว่า “ที่พระนครสุโขทัยนี้มีสังฆราช มีปู่ครู มีมหาเถระ และมีเถระ” ดังนี้เป็นต้น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีทัศนะว่า สังฆราชเห็นจะเป็นตำแหน่ง สังฆนายก ชั้นสูงสุด (ปัจจุบันเรียกว่า สกลมหาสังฆปรินายก) ตำแหน่ง ปู่ครู ตรงกับที่เราเรียกว่า
พระครู ทุกวันนี้เป็นตำแหน่งรองจากสังฆราช ส่วนมหาเถระและเถระที่กล่าวในศิลาจารึกนั้นเห็นจะเป็นพระที่อายุพรรษามาก และทรงคุณธรรมด้านศาสนาเท่านั้น  น่าจะไม่ใช่สมณศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งและตามหลักฐานต่าง ๆ นั้น สันนิษฐานว่าเมื่อพระนครสุโขทัยเป็นราชธานี เห็นจะมีพระสังฆราชมากกว่าองค์เดียว การปกครองราชอาณาจักรครั้งนั้นหัวเมืองใหญ่ที่อยู่ห่างไกลราชธานีมักจะเป็นเมืองประเทศราชเสียส่วนมาก แม้เมืองที่อยู่ใกล้ราชธานีก็ตั้งเจ้านายในราชวงศ์ออกไปปกครองเมืองประเทศราช เมืองใหญ่แต่ละเมืองจะมีพระสังฆราชองค์หนึ่งเป็นสังฆปริณายกของพระสงฆ์ในเขตเมืองนั้น มีตัวอย่างในครั้งต่อมาว่า ในชั้นหลัง ๆ ยังเรียกเจ้าคณะเมืองว่า สังฆราชา      (ต่อมารัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงเปลี่ยนเป็น “สังฆปาโมกข์”) ดังแผนภูมิแสดงโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์สมัยสุโขทัย ดังต่อไปนี้

สมัยกรุงสุโขทัย มีรายชื่อพระสงฆ์ที่บ่งบอกว่าได้รับพระราชทานราชทินนามเป็นสมณศักดิ์ปรากฏอยู่ในรัชสมัยนั้น เช่น พระสังฆราชวัดมหาธาตุ, พระครูธรรมไตรโลก วัดเขาอินทร์แก้ว, พระคูยาโชค วัดอุทยานใหญ่, พระครูธรรมราชา วัดไตรภูมิป่าแก้ว เป็นต้น ดังนั้น สมณศักดิ์ในมัยกรุงสุโขทัยจึงมีอยู่ ๒ ระดับ คือ พระสังฆราช และพระครู
 

สมัยกรุงศรีอยุธยา: ใช้ราชทินนามว่า “ สมเด็จพระสังฆราช”
          ในสมัยกรุงศรีอยุธยาช่วงต้นมีพระสังฆราช ๒ พระองค์คือ พระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายคามวาสีเป็นพระสังฆราชขวา และพระวันรัต เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายอรัญวาสี เป็นพระสังฆราชซ้าย พระองค์ไหนเป็นผู้มีอายุพรรษามากกว่า ก็ได้เป็น สมเด็จพระสังฆราช มีอำนาจว่ากล่าวออกไปถึงหัวเมืองและมีศักดิ์สูงกว่าพระสังฆราชฝ่ายขวา – ซ้าย
          อนึ่งคำว่า “สมเด็จ” เป็นคำยกย่องชั้นสูง ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานในสมัยกรุงสุโขทัยไม่ปรากฏคำนี้เลย แม้พระนามของพระมหากษัตริย์ก็มิได้มีคำว่า “สมเด็จ” นำหน้า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นลำดับมา นิยมใช้คำนี้เป็นคำยกย่องชั้นสูงและน่าจะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของเขมร ซึ่งคำว่าสมเด็จเป็นภาษาเขมร
          มาถึงตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พระอริยมุนีได้ไปสืบอายุพระพุทธศาสนาที่ลังกาทวีป มีความชอบมาก เมื่อกลับมาได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับจนเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชดำริให้คงราชทินนามนี้ไว้ จึงทรงตั้งราชทินนามสมเด็จพระสังฆราชเป็น สมเด็จพระอริยวงษาสังฆราชาธิบดี และต่อมานั้นเป็น สมเด็จพระอริยวงษญาณ ในสมัยกรุงธนบุรี และได้ใช้ต่อมาจนถึงรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ซึ่งได้ใช้มาถึงปัจจุบันนี้ (สุเชาวน์ พลอยชุม;๒๕๔๑,(๒) )
          ดังนั้น สมเด็จพระราชาคณะ จึงเริ่มปรากฏมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาติดต่อมาจนถึงปัจจุบัน เดิมสมเด็จพระราชาคณะเป็นตำแหน่งปกครองพระสงฆ์ชั้นเจ้าคณะใหญ่มาโดยตลอด ถึงสมัยใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะ จึงแยกจากตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ชั้นสูง
แต่ในปัจจุบันสมเด็จพระราชาคณะ เป็นตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์ในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคมและสกลมหาสังฆปริณายก (พระเทพปริยัติสุธี: ๒๕๔๕; ๔๓๒) สมเด็จพระราชาคณะแยกโดยประเภทมี ๒ ประการคือ
๑.     สมเด็จพระสังฆราช
๒.     สมเด็จพระราชาคณะ

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์: สมเด็จพระสังฆราช มีพระนามเรียก ๓  พระนาม
          สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น การปกครองคณะสงฆ์ก็ยังคงดำเนินไปเหมือนสมัยกรุงธนบุรี
มีตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นสมณศักดิ์สูงสุดและเป็นประมุขแห่งสงฆ์หรือตำแหน่งพระสังฆบิดร ในช่วงรัชกาลที่ ๑ ไม่ปรากฏหลักฐานว่า สมเด็จพระสังฆราช มีราชทินนามว่าอย่างไร กระทั้งสมัยรัชกาลที่ ๒
เมื่อทรงสถาปนา สมเด็จพระพนรัตน (มี) เป็นสมด็จพระสังฆราช มีราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงษญาณ
ซึ่งนับได้ว่ารับพระราชทินนามนี้เป็นพระองค์แรก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงได้ทรงแก้ไขพระราชทินนามให้เป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ซึ่งได้ใช้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
          ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบันคือตำแหน่งประมุขสงฆ์หรือพระสังฆบิดร มิใช่เป็นพระนามของประมุขสงฆ์ ส่วนพระนามของประมุขสงฆ์นั้น ที่ผ่านมา ถ้าเป็นพระบรมวงศานุวงศ์หรือราชวงศ์ย่อมมีพระนามต่างกันตามที่ทรงสถาปนา ถ้ามิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ ย่อมมีพระนามอย่างเดียวกันทุกพระองค์ คือ “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” มีพระราชทานพิเศษบางพระองค์ เช่น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช องค์ปัจจุบัน จึงนับว่าเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์แต่ได้รับพระราชทินนามเป็นพิเศษเฉพาะพระองค์
          ปัจจุบันสมเด็จพระสังฆราชเป็นสมณศักดิ์ชั้นสุพรรณบัฎพิเศษ ผู้ดำรงพระอิสริยยศชั้นนี้ แม้มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ก็ทรงใช้ราชาศัพท์ การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้นทรงโปรดให้มีพระราชพิธีจารึกพระนามในสุพรรณบัฎ (แผ่นทอง) และทรงโปรดให้จัดพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชพิธีพิเศษ สมเด็จพระสังฆราช ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ และแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ย่อมทรงดำรงตำแหน่ง สกลมหาสังฆปริณายก และ
ตำแหน่งประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ดังนั้นในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ สมณศักดิ์สูงสุดในคณะสงฆ์คือตำแหน่งที่ สมเด็จพระสังฆราช นั้นรวมทั้งสิ้น ๑๙ พระองค์  มีคำเรียกพระนาม ๓ พระนาม คือ
๑.     สมเด็จพระมหาสมณเจ้า   มีจำนวน ๓ พระองค์
๒.     สมเด็จพระสังฆราชเจ้า     มีจำนวน ๒ พระองค์
๓.     สมเด็จพระสังฆราช          มีจำนวน ๑๔ พระองค์
๑.     สมเด็จพระมหาสมณเจ้า คือตำแหน่งที่เจ้านายชั้นสูงผู้ได้รับถวายพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก
(คือทรงได้รับสถาปนาเป็นที่สมเด็จพระสังฆราช) ซึ่งมีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์คล้ายกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เรียกว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า มี ๓ พระองค์คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าวาสุกรี) วัดพระเชตุพนฯ ทรงดำรงตำแหน่งในระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๔ – ๒๓๙๖ รวม
เวลา ๒ ปี ในรัชกาลที่ ๔ หลังจากนี้รัชกาลที่ ๔ พระองค์มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชตลอดรัชกาล ฉะนั้นในรัชกาลที่ ๔จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชเกือบตลอดรัชกาลเป็นเวลา ๑๕ ปี
ในรัชกาลที่ ๕ ในช่วง ๒-๓ ปีแรกแห่งรัชกาล ก็มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราชเช่นกัน (สุเชาวน์ พลอยชุม : ๒๕๔๑; (๖) )   กระทั้ง พ.ศ. ๒๔๓๔ จึงทรงถวายพระมหาสมณุ
ตมาภิเษกแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์(พระองค์เจ้าฤกษ์)เป็นพระองค์ที่สอง
 วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ดำรงอยู่ในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช เพียง ๑๐ เดือนเท่านั้นก็สิ้นพระชนม์ และทรงพระกรุณาโปรดฯสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์ เป็นพระองค์ที่ ๒
ในรัชกาล  สมเด็จพระสังฆราช (สา) ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๕ ปีเศษก็สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ หลังจากนั้น ก็มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราชอีกจนตลอดรัชกาล (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครองราชย์ พ.ศ.๒๔๑๑-๒๔๕๓) ฉะนั้นในรัชกาลที่ ๕ จึงรวมเวลาที่ว่างสมเด็จพระสังฆราชอยู่ถึง ๓๔ ปี  นับแต่รัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชต่อเนื่องกันมามิได้ขาดจวบจนปัจจุบัน และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ) วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๒ – ๒๔๖๔ ในรัชกาลที่ ๕ – ๖ รวมเป็นเวลา ๒๒ ปี
          ๒. สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงได้รับสถาปนามี ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (หม่อมเจ้าภุชงค์) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๔ – ๒๔๘๐ ในรัชกาลที่ ๖ – ­๘ รวมเป็นเวลา ๑๗ ปี และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (หม่อมราชวงศ์ชี่น นภวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๘-
๒๕๐๑ ในรัชกาลที่ ๘ - ๙  รวมเป็นเวลา ๑๔ ปี
          ๓. สมเด็จพระสังฆราช คือพระเถระผู้มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อได้รับสถาปนาเป็นที่สมเด็จพระสังฆราช เรียกว่า สมเด็จพระสังฆราช ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบัน ได้รับสถาปนาเป็นจำนวน
๑๔ พระองค์
          การปกครองคณะสงฆ์ไทย แต่เดิมมาแบ่งเป็นคณะ แต่ละคณะมีเจ้าคณะใหญ่ปกครองโดยไม่ขึ้นแก่กัน
เมื่อมีกิจอันจะพึ่งกระทำร่วมกัน เสนาบดีกระทรวงธรรมการรับพระราชโองการสั่งฯเจ้าคณะรูปใดมีสมณศักดิ์สูง เสนาบดีก็พูดทางเจ้าคณะรูปนั้น ๆ และสมเด็จพระสังฆราชจึงทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นกิตติมศักดิ์ ดังนั้นผู้ทำหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชที่แท้จริงคือเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งได้รับพระราชโองการสั่ง(คำสั่ง)จากสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอีกทีหนึ่ง ฉะนั้นแต่โบราณมาผู้ปกครองคณะสงฆ์ที่แท้จริงคือ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน
          ถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมอบการทั้งปวงซึ่งเป็นกิจธุระพระศาสนาถวายแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้เป็นมหาสังฆปริณายก เพื่อเป็นธุระปกครองคณะสงฆ์กันเองเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ เป็นต้นมา และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกที่ปกครองคณะสงฆ์โดยตรงด้วยพระองค์เอง จึงได้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมาจนทุกวันนี้
          หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา ธรรมเนียมการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมดังที่กล่าวมาแล้ว คือมิได้ถือความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเป็นสำคัญ แต่ถือหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เป็นสำคัญ ซึ่งโดยหลักการแล้วก็คือพระมหาเถระผู้มีสมณศักดิ์สูงสุดเป็นลำดับที่ ๑ จะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบันมีสมเด็จพระสังฆราช รวม ๑๙ พระองค์
          แม้ว่าลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ของไทย นับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน จะแตกต่างกันไปบ้าง ตามความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า สมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ทั้งในอดีตและในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ล้วนเป็นพระมหาเถระผู้ทรงเกียรติคุณและทรงปฏิบัติพระศาสนกิจเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาและชาติบ้านเมืองเป็นอย่างมาก

 

ที่มา ผศ.ดร.สมศักดิ์    บุญปู่

เรียบเรียง บุญชัย ทีนิวส์