ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

รายงานข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับตัวเลขสาขาของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560 มีการปิดสาขาแล้วทั้งสิ้น 126 สาขา ทำให้จำนวนสาขาลดลงมาอยู่ที่ 6,890 สาขาจากสิ้นปี 2559 ที่มี 7,016 สาขา

โดยธนาคารที่มีจำนวนสาขาลดลงมากที่สุดในรอบ 7 เดือนแรกของปีนี้ 3 อันดับแรก คือ ธนาคารกรุงไทย สาขาลดลง 60 สาขา มาอยู่ที่ 1,153 สาขา จาก 1,213 สาขา ณ สิ้น ธ.ค.ปี 2559 รองลงมาคือธนาคารกสิกรไทย สาขาลดลง 50 สาขา มาอยู่ที่ 1,059 สาขา จาก 1,110 สาขา และสุดท้ายคือ ธนาคารธนชาต สาขาลดลง 50 สาขา มาอยู่ที่ 543 สาขา จาก 593 สาขา

การปิดสาขาของธนาคารพาณิชย์ สืบเนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ บนมือถือ หรือทางโซเชียลมีเดีย มีจำนวนผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้จำนวนผู้ที่ใช้บริการผ่านช่องทางสาขาลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปี 2559 และในอนาคตการเดินเข้าไปใช้บริการผ่านสาขาธนาคารจะเป็นเพียงแค่การไปทำธุรกรรมที่มีความซับซ้อน หรือต้องการคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่เพื่อแก้ปัญหาในประเด็นสำคัญๆ เท่านั้น

นอกจากนี้ เมื่อเข้าสู่ยุค Digital Banking ทุกอย่างของการทำธุรกรรมทางการเงินอยู่แค่เพียงปลายนิ้วกด ทำให้ผู้บริโภคใช้บริการธนาคารได้สะดวกสบายมากขึ้น เช่น บางรายที่ไม่มีเวลาในการเข้าคิวหรือเดินทางมายังธนาคารพาณิชย์ก็สามารถใช้บริการออนไลน์บนสมาร์ทโฟนได้ทันที

เพราะฉะนั้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคแบบไร้ขีดจำกัด ในการใช้จ่ายชำระค่าบริการในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น โอนเงิน จ่ายเงิน สั่งสินค้า จองตั๋วต่างๆ เป็นต้น ทำให้ผู้คนสามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment มาจ่ายเงินแทนเงินสดที่อยู่ในกระเป๋าสตางค์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สังคมที่ไม่พกเงินสด (Cashless Society) โดยที่ไม่ต้องเดินออกมาจ่ายเงินเหมือนในสมัยก่อน อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากการถือเงินสดเยอะ ๆ แล้วกลัวหาย หรือกลัวโดนปล้น และการทำทุจริตต่างๆ ได้ แถมยังไม่ต้องยึดติดกับเคาน์เตอร์ที่ต้องต่อคิวเป็นเวลานานๆ

และการที่ธนาคารพาณิชย์ได้ปรับตัวโดยทบทวนจำนวนเครือข่ายที่ตั้งสาขาใหม่ (Relocate) และเพิ่มช่องทางการให้บริการทางการเงินผ่านมือถือ (Mobile Banking) หรือบริการทางการเงินผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet Banking) หรือการนำเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ นั้น ทางด้านของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ เคยออกมาชี้แจงว่า เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้ด้วยตนเองด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง ทำให้มีความสะดวกสบายโดยไม่ต้องเดินทางมาที่สาขา

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ แม้โลกยุค Digital Banking จะสร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงต้องให้ความสำคัญนั่นก็คือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ดังนั้นจึงอยากวอนภาครัฐสถาบันการเงิน หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาดูแลว่าควรจะมีการกำกับควบคุมอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคมากที่สุด

ที่มา ธนาคารแห่งประเทศไทย และ แรบบิท เดย์ลี่