เผื่อ"อนาคตใหม่"ยังไม่รู้..หลังปักธง"ฉีกรัฐธรรมนูญ" พูดหวังโกยคะแนนเสียงได้..แต่ไม่ง่ายเหมือนปากพูด

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ ได้เผยแพร่รายงาน :ชูแก้รธน.หาเสียง ไม่ง่ายเหมือน "ปอกกล้วยเข้าปาก"  ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่พรรคอนาคตใหม่ โดยการนำของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ประกาศชูนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

 

โดยวาทะเด็ดของนายธนาธรได้กล่าวว่า "เราไม่ใช่แค่แก้ไข แต่เราจะฉีก ล้มรัฐธรรมนูญ เพื่อออกจากอำนาจที่ไม่ขอบธรรมของคสช. " ในรายงานดังกล่าวระบุว่า...

ทันทีที่ “พรรคอนาคตใหม่” ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชูแนวคิด “ฉีกรัฐธรรมนูญปี 2560 ทิ้งทั้งฉบับ” หาเสียงในการเลือกตั้ง มีทั้งเสียงสนับสนุนและกระแสต่อต้านจากบางฝ่าย กลายเป็นประเด็นร้อนที่ พรรคขนาดกลาง พรรคขนาดใหญ่ อย่าง ชาติไทยพัฒนา และ เพื่อไทย ขอโหนกระแสเดินตามเพราะหวั่นตกขบวน

 


นพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคอนาคตใหม่ประกาศจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า เป็นสิทธิของพรรคการเมืองที่จะนำเสนอได้ ซึ่งบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็เป็นสิทธิที่จะเสนอและรณรงค์ในการหาเสียงเลือกตั้งได้ อีกทั้งในอดีตช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญก็เป็นประเด็นสำคัญในหลายๆ ประเด็น


สำหรับพรรคเพื่อไทยได้มีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการระหว่างสมาชิกโดยไม่มีการประชุมพรรค ก็มีความสนใจในประเด็นนี้มาตั้งนานแล้ว ส่วนจะเสนอแก้ไขในเรื่องใดก็ขอเวลาได้ปรึกษาหารือกันให้ตกผลึกก่อนแล้วจะนำเสนออย่างเป็นระบบ


“ในฐานะของสมาชิกพรรคก็คิดว่าเป็นหนึ่งในประเด็นที่พรรคเพื่อไทยจะใช้รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไปอยู่แล้ว” นพดล ระบุ

 

 


รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ในฐานะที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ไว้ว่า สามารถทำได้ไม่ยากเย็นอะไร...



แต่ก็คง “ไม่ง่าย” ดั่งใจนึก เมื่อในรัฐธรรมนูญปี 2560 หมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา (ม.) 255 ระบุเอาไว้ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (รธน.) ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้ และใน ม.256 ให้ภายใต้บังคับ ม.255 การแก้ไขเพิ่มเติมรธน.ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้




ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ ส.ส. หรือจาก ส.ส. และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ จากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย


ญัตติการขอแก้ไขเพิ่มเติมนั้นต้องเสนอเป็นร่างรธน.แก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็น 3 วาระ โดยวาระขั้นรับหลักการให้ออกเสียงลงคะแนนใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนแบบเปิดเผยซึ่งต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ในวาระ2 ให้พิจารณาเรียงลำดับรายมาตราโดยให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ กรณีที่เป็นร่าง รธน.แก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย เมื่อพิจารณาวาระ 2 เสร็จสิ้นแล้วให้รอไว้ 15 วัน เมื่อพ้นกำหนดแล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระ 3 ต่อไปได้



การออกเสียงลงคะแนนวาระ 3 นั้นให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็น รธน. มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยจำนวนนี้ต้องมี ส.ส.จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 20 % ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา



เมื่อมีการลงมติเห็นชอบในวาระ 3 แล้ว ให้รอไว้ 15 วันแล้วจึงนำร่างรธน.แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ และให้นำความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม



ทั้งนี้ ในกรณีร่างรธน.แก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติม รธน.หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆตามรธน. หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่ หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาล หรือองค์กรอิสระ ไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่ หรืออำนาจได้ ก่อนดำเนินการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรธน.แก้ไขเพิ่มเติมจึงให้ดำเนินการต่อไปได้

 


อย่างไรก็ดี ก่อนนายกฯนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ส.ส. หรือ ส.ว.หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกันแล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภาแล้วแต่กรณีว่า ร่างรธน.ดังกล่าวขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆตามรัฐธรรมนูญ

 

หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจดังกล่าว ให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง และระหว่างการพิจารณาวินิจฉัย นายกฯจะนำร่างฉบับดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้


การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ใครจะใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง สามารถชูหรือพูดเพื่อหวังโกยคะแนนเสียงได้ แต่ในทางปฏิบัติมีขั้นตอนยุ่งยากที่ถูกล็อกไว้ให้แก้ไขได้ไม่ง่าย ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายเหมือน “ปอกกล้วยเข้าปาก”