ถอดบทเรียน "ให้โดยเสน่หา" ตามมาซึ่งคดีความ ไขข้อข้องใจเมื่อ "หมดเสน่หา" เกิดอยากได้คืน

ถอดบทเรียน "ให้โดยเสน่หา" ตามมาซึ่งคดีความ ไขข้อข้องใจเมื่อ "หมดเสน่หา" เกิดอยากได้คืน

จากกรณีคดีในกระแส ยิงดับ 2 ศพ น.ส.ปวีณา หรือ สปาย นาเมืองรักษ์ อายุ 20 ปี และ นายอนันตชัย หรือ ฟอส จริตรัมย์ อายุ 20 ปี บริเวณหน้าเขาชีจรรย์ ซึ่งผู้ต้องหาคือ เสี่ยอ้วน นายปัญญา ยิ่งดัง ที่ภายหลังก่อเหตุได้พยายามหนีออกนอกประเทศแต่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้ในที่สุดและอยู่ในขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย ภายหลังเสี่ยอ้วนได้ให้การว่าเหตุจูงใจที่ได้สังหารสองศพเนื่องจากตนเองได้ทุ่มเทให้เงินแก่ทางครอบครัวน้องสปายไปเป็นจำนวนเงิน 7 ล้านบาท 

 

กลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคมขึ้นมาแม้ในภายหลัง แม่ ของน้องสปายได้ออกมายอมรับว่าทางครอบครัวได้รับเงินโอนจากเสี่ยอ้วนจริง แต่เพียงแค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้ปฏิเสธไปแต่เสี่ยอ้วนต้องการที่จะโอนให้โดยเสน่หา ซึ่งตนก็ได้นำเงินดังกล่าวไปซื้อรถแล้วเรื่องน่าสลดกว่านั้นคือภายหลังเกิดเหตุ เงินจำนวนดังกล่าวก็ถูกใช้ไปกับการจัดงานศพให้น้องสปายด้วยเช่นกัน

 

ซึ่งเมื่อฟังจากคำพูดแม่ของน้องสปาย เราจะเห็นว่าเสี่ยอ้วนให้เงินแก่น้องสปายด้วยความเสน่หา คำว่าให้โดยเสน่หาหมายถึง การมอบทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่ชอบด้วยกฎหมายที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้ ให้กับผู้รับ โดยผู้ให้จะต้องตั้งใจที่จะให้กับผู้รับ และผู้รับเต็มใจที่จะรับมอบและยอมรับทรัพย์สินนั้น เมื่อให้อะไรใครโดยเสน่หาแล้ว จะเอาคืนไม่ได้ ยกเว้นในกรณีที่ผู้รับเนรคุณ จึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกคืนได้

 

ถอดบทเรียน "ให้โดยเสน่หา" ตามมาซึ่งคดีความ ไขข้อข้องใจเมื่อ "หมดเสน่หา" เกิดอยากได้คืน


 

การรักษามารยาทด้วยการรับทั้งๆ ที่ขัดใจ ก็ทำให้การให้สมบูรณ์แล้ว ดังนั้นเมื่อผู้รับไม่รับก็ไม่เป็นการให้ตามความหมายของกฎหมาย ถ้าผู้ให้ยังรั้นจะให้ และเป็นการให้ที่ไม่ใช่การส่งมอบของแก่กัน กฎหมายก็ยังรู้เท่าทันกำหนดสิทธิและหน้าที่เอาไว้ด้วย เช่นการชำระหนี้แทน กฎหมายบอกว่าจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้เสียก่อน มิเช่นนั้นถือว่าเป็นการชำระหนี้โดยฝืนใจเจ้าหนี้ ซึ่งมีเกิดขึ้นได้เพราะลูกหนี้รายนี้ไม่ยอมชำระหนี้หรือจะยังไม่ชำระหนี้เพราะเขาอาจมีข้อเรียกร้องอะไรกับเจ้าหนี้รายนี้อยู่ ผู้หวังดีมาชำระหนี้ให้ก็อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ การทำอะไรให้โดยพลการไม่เป็นการให้ตามความหมายของกฎหมาย แต่เป็นการ “จัดการงานนอกสั่ง”

 

การให้เป็นเรื่องของน้ำใจที่เอื้อเฟื้อต่อกัน โดยการให้มีหลายลักษณะ เช่น

 

-ให้เปล่า
ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นการให้ ดังนั้นย่อมต้องไม่มีค่าตอบแทนที่เป็นเงินหรือประโยชน์อื่นใดเข้ามา กฎหมายท่านเรียกว่าเป็นการ “ให้โดยเสน่หา” นั่นคือการโอนทรัพย์สินของตนให้กับคนอื่นซึ่งเป็นผู้รับ แต่บางครั้งการให้ก็ไม่ง่ายเหมือนการจ่ายเงิน อาจเป็นการให้ทรัพย์สินที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย หรือเป็นการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ทำให้การให้เปล่าไม่เป็นการได้เปล่าอย่างที่คิด

 

-ให้อสังหาริมทรัพย์  
หากสิ่งที่ให้เป็นที่ดินหรือบ้านซึ่งมีกระบวนการโอนที่ต่างจากการหยิบยื่นให้ไปเฉยๆ ดังนั้นแม้จะเป็นการให้ไปเปล่าๆ แต่ก็มีภาระหรือค่าใช้จ่ายพ่วงท้ายมาด้วยกับการได้เปล่านั้น คือการจ่ายค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ กรณีนี้มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ทำให้ผู้ที่ได้บ้านที่ดินนั้นต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ให้กับรัฐตามอัตราที่กฎหมายกำหนดเอาไว้

 

แต่หากเป็นการให้ในหน้าที่ศีลธรรมจะเป็นตัวทำให้ภาระค่าใช้จ่ายน้อยลง ถ้าเป็นพ่อแม่ลูกยกที่ดินให้กัน กฎหมายให้ชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนที่ลดลง ของราคาประเมินทรัพย์สินนั้น และไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ด้วย สิทธิประโยชน์นี้มีถึงกรณีที่คู่สามีภรรยาให้ทรัพย์สินแก่กันด้วย

 

-การให้และผลตามกฎหมาย
อาจจะแปลกใจที่จะให้กันอย่างไรยังต้องอาศัยกฎหมายมากำกับ ความเข้าใจทั่วไปของการให้ก็คือการส่งมอบของที่จะให้แก่กันเป็นอันเสร็จพิธี แต่ก็ยังอุตสาห์มีการให้อย่างอื่นที่ต้องอาศัยกระบวนการด้วยเช่น การให้อสังหาริมทรัพย์อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ผู้ให้ไม่สามารถยกที่ดินแล้วใส่ในมือของผู้รับได้ จะต้องทำการจดทะเบียนการให้ตามกฎหมายด้วย และไม่จำเป็นต้องทำการส่งมอบการให้ก็ใช้ได้แล้ว การให้ของบางอย่างที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าถ้าเวลาซื้อขายจะต้องทำเป็นหนังสือ การให้สิ่งเหล่านี้จะต้องทำเป็นหนังสือด้วย ถ้าเป็นการให้สิทธิที่มีทำหนังสือตราสารเป็นสำคัญ จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เป็นลูกหนี้แห่งสิทธิทราบด้วยจึงจะสมบูรณ์

 

เมื่อให้แล้วกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในทรัพย์สินก็ตกได้แก่ผู้รับไปโดยเด็ดขาด แต่จะได้สิทธิตรงนี้ไปก็ต่อเมื่อการให้สมบูรณ์ครบตามสูตรของกฎหมาย นั่นคือมีการส่งมอบการให้ และเป็นการให้โดยเสน่หา (ซึ่งไม่ได้แปลว่ามีความรักใคร่ในทางชู้สาว แต่เป็นความพอใจที่จะให้) ทั้งยังต้องปรากฏว่าผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้นด้วย

 

ถ้าตกลงให้ แต่ยังไม่ให้สักที อย่างนี้ต้องระวัง เพราะการให้ถือเป็นคำมั่นว่าจะให้ เมื่อยังไม่ได้ส่งมอบหรือทำการให้ตามวิธีที่กฎหมายกำหนดก็ถือว่าการให้ยัง “ไม่สมบูรณ์” ที่สำคัญการให้ที่บอกว่าจะให้ก็เมื่อคนให้ตายไปก่อนนั้นถือเป็นเรื่องของพินัยกรรมหรือมรดกไป ไม่ใช่การให้ในความหมายของกฎหมายเรื่องให้นี้ ซึ่งการให้แบบไม่ให้สักทีก็มีผลของการให้ตามที่จะกล่าวต่อไปข้างล่างนี้

 

ถอดบทเรียน "ให้โดยเสน่หา" ตามมาซึ่งคดีความ ไขข้อข้องใจเมื่อ "หมดเสน่หา" เกิดอยากได้คืน

-ยังไม่ได้ให้
หลายคนอาจคิดเสียงดังพลั้งปากไปว่าจะให้ หรือพูดพล่อยไม่ทันได้คิดว่าคนที่จะได้รับเขาจดเขาจำแม่นยำกว่าคนพูด แบบนี้จะผูกพันคนลั่นวาจาแค่ไหนก็ต้องดูกฎหมายให้ละเอียดด้วย เพราะการให้ยังไม่สมบูรณ์เพียงเพราะลมปาก จะต้องมีแอคชั่นประกอบฉากด้วย

 

กฎหมายถือสานักหนาว่าการให้หรือคำมั่นว่าจะให้ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เอาไว้ให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นก็บังคับการปฏิบัติการให้ไม่ได้เลย แปลว่าทวงไม่ได้

 

-ให้แล้วเอาคืน
อันนี้สำคัญ เผลอใจไปเสน่หาด้วยการให้ของเขาแล้วก็แล้วกันไปจะมาทวงคืนไม่ได้ ยกเว้นกรณีเดียวก็คือ “เนรคุณ” คนให้ คงไม่ต้องบรรยายความเนรคุณเอาไว้ แต่ก็ต้องเป็นไปในกรอบที่กฎหมายกำหนดอยู่ดี นั่นคือ จะไปทำร้ายเขาอันเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือไปทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทเขาอย่างร้ายแรง หรือไม่เลี้ยงดูเขาเมื่อเขายากไร้และคนรับสามารถจะให้การดูแลได้แต่ในส่วนของทายาทของผู้ให้นั้น จะทวงคืน

 

การให้ถ้าเนรคุณได้ในกรณีที่คนรับไปฆ่าคนให้โดยเจตนาหรือโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือทำการกีดกันขัดขวางผู้ให้จนไม่สามารถถอนคืนการให้ได้ กรณีถอนคืนการให้และผู้รับไม่ยอมคืนก็ต้องไปฟ้องร้องกันที่ศาล และถ้าคนให้ตายเพราะคนรับฆ่า ทายาทของผู้ให้ก็ดำเนินคดีนี้ได้

 

กฎหมายยังเปิดช่องในเรื่องการถอนคืนการให้เอาไว้ว่าถ้าคนให้เกิดอภัยในความเนรคุณนั้นแล้ว หรือปล่อยเวลาล่วงเลยไปถึง 6 เดือนนับแต่วันที่รู้ว่าจะฟ้องใครแล้วก็หมดสิ้นเรียกคืน หรือปล่อยเวลาผ่านไปเกิน 10 ปีนับแต่มีการเนรคุณแล้วก็หมดสิทธิ์เรียกร้องคืนเช่นกัน 

 

การให้ถือเป็นสิ่งที่คนไทยถูกปลูกฝังมาตลอด ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความเพียงแค่ว่าการให้เงิน ให้ทรัพย์สิน แต่ยังรวมถึงการให้น้ำใจแก่กัน แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่ากฎหมายจะกำหนดแนวทางไว้อย่างไร การให้จะสมบูรณ์แบบจริงๆ ก็ต่อเมื่อการให้และการรับอยู่บนพื้นฐานของความสุจริตใจเป็นที่ตั้ง

 

ถอดบทเรียน "ให้โดยเสน่หา" ตามมาซึ่งคดีความ ไขข้อข้องใจเมื่อ "หมดเสน่หา" เกิดอยากได้คืน

 

ขอบคุณข้อมูล : ศรัณยา ไชยสุต  วารสารสภาทนายความ
ขอบคุณภาพบางส่วน : รายการทุบโต๊ะข่าว อัมรินทร์ทีวี HD34