เมื่อ "ชักดาบ" ก็ต้อง "ลงดาบ" รัฐบาลเอาจริงเตรียมหักเงินเดือนผู้กู้ กยศ. ตามลำดับ

ดุจดั่ง "ทองไม่รู้ร้อน" กับเหล่าประชากร "ลูกหนี้" ใน "กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา" หรือ กยศ. จนกลายเป็นปัญหาคาราคาซัง

เมื่อ "ชักดาบ" ก็ต้อง "ลงดาบ" รัฐบาลเอาจริงเตรียมหักเงินเดือนผู้กู้ กยศ. ตามลำดับ

 

 

    ดุจดั่ง "ทองไม่รู้ร้อน" กับเหล่าประชากร "ลูกหนี้" ใน "กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา" หรือ กยศ. จนกลายเป็นปัญหาคาราคาซัง ที่คาบเกี่ยวและส่งผลกระทบโดยตรงต่องบประมาณด้านการศึกษาในระดับประเทศ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีประชากรบางกลุ่มเจตนาชี้ชัดว่าตั้งใจชักดาบเบี้ยวหนี้ โดยมักยกอ้างความจนหรือความไม่พร้อมจ่าย มาเป็นเกราะกำบัง ผ่านวาทกรรม "หาเช้ากินค่ำ" ที่ถูกนำมาใช้กันอยู่บ่อยครั้ง

 

    นับตั้งแต่ ปี 2539 ที่กองทุนนี้ได้จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี โดยอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลังมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียน หรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา อนึ่งด้วยเล็งเห็นว่าการศึกษาเป็นปัจจัยอันสำคัญที่จะนำไปสู่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับองค์รวม ซึ่งผู้กู้จะเริ่มชำระหนี้เมื่อสำเร็จหรือหลังเลิกการศึกษา 2 ปี และต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี จากการสำรวจพบว่าเงินกู้ดังกล่าว มักกระจุกตัวอยู่ในระดับอุดมศึกษามากที่สุด

 

 

เมื่อ "ชักดาบ" ก็ต้อง "ลงดาบ" รัฐบาลเอาจริงเตรียมหักเงินเดือนผู้กู้ กยศ. ตามลำดับ

 

    การคัดกรองผู้มีสิทธิ์ในการกู้นั้นโดยหลักจะมีอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะเป็นการคัดกรองจากคุณภาพของสถาบันการศึกษา โดยจะต้องเปิดการเรียนการสอนมาแล้วอย่างน้อย 1 ปีการศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาต้องรับรู้ถึงการเปิดสอนหลักสูตรดังกล่าว นอกจากนี้ยังต้องผ่านการรับรองคุณภาพของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา และผ่านการประเมินของต้นสังกัด ส่วนที่สองคือการคัดกรองความเหมาะสมและศักยภาพของตัวนักศึกษา เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะชำระหนี้ในอนาคต เบื้องต้นมักใช้เกรดเป็นตัวชี้วัด ซึ่งเกรด 2.00 ก็เพียงพอ ที่จะคาดการณ์ได้ว่านักศึกษาจะสามารถเรียนจบภายในระยะเวลาที่กำหนด

    เป็นตัวเลขที่น่าตกใจอยู่ไม่น้อย กว่า 22 ปี ที่กองทุนนี้ได้จัดตั้งขึ้น โดยมีสถานะเป็น "กองทุนกู้ยืม" จากทุนหมุนเวียนของรัฐที่มาจากภาษีของประชาชนถ้วนทั่ว หาใช่องค์กรการกุศลหรือเงินให้เปล่า แต่ปรากฏมีนักเรียนกู้ไปแล้วกว่า 5 ล้านราย เป็นเงินกว่า 570,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการชำระหนี้ประมาณ 65% หรือราว 3.5 ล้านราย ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 19%  ราว 8 แสนราย ชำระหนี้ปกติ 39% ราว 1.3 ล้านราย ผิดนัดชำระหนี้ 61% กว่า 2 ล้านราย เป็นเงินค้างชำระทั้งสิ้นเกือบ 70,000 ล้านบาท

 

 

เมื่อ "ชักดาบ" ก็ต้อง "ลงดาบ" รัฐบาลเอาจริงเตรียมหักเงินเดือนผู้กู้ กยศ. ตามลำดับ
 

 

    โดยสาเหตุหลักของการค้างชำระหนี้มาจากการขาดวินัยทางการเงิน และขาดจิตสำนึกในการชำระหนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อเงินหมุนเวียนกยศ.จึงจำต้องดำเนินคดีเพื่อไม่ให้ขาดอายุความ ทำการฟ้องผู้กู้ยืมเงินที่จบการศึกษาอายุ 30 ปีขึ้นไป ปัจจุบันมีมากกว่า 1 ล้านคดี เฉลี่ยปีละ 1 แสนคดี

 

    เนื่องจากทาง กยศ. มีฐานข้อมูลลูกหนี้ในระบบ กระบวนการและขั้นตอนในการทวงหนี้จะเริ่มจากส่งข้อความเอสเอ็มเอสทางโทรศัพท์ ซึ่งหากไม่ได้รับการติดต่อกลับในช่วงเวลาหนึ่งจะโทรศัพท์ไปแจ้งเตือน แต่หากยังไม่มีความเคลื่อนไหวจะมีการส่งหนังสือทางการไปยังที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้าน และขั้นตอนสุดท้ายคือดำเนินคดี และบังคับคดีตามกฎหมายในที่สุด

    ทว่าการแก้ไขปัญหาทำนองนี้อาจไม่เด็ดขาดเพียงพอ เพราะด้วยความ "หัวหมอ" ของลูกหนี้ ที่ทราบดีว่าเป็นคดีแพ่งหาใช่คดีอาญา เลวร้ายที่สุดอาจโดนยึดทรัพย์มิได้ติดคุกติดตารางแต่อย่างใด เป็นเหตุให้เหล่าลูกหนี้ยังคงถือคติพจน์ "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" ถึงจะล้มก็ "ล้มบนฟูก" 

 

 

เมื่อ "ชักดาบ" ก็ต้อง "ลงดาบ" รัฐบาลเอาจริงเตรียมหักเงินเดือนผู้กู้ กยศ. ตามลำดับ

 

    แต่แล้ว พ.ร.บ. กยศ. ปี 2560 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ มีสาระสำคัญที่ผู้กู้ยืมมีหน้าที่ให้ความยินยอมในขณะทำสัญญากู้ เพื่อให้หักเงินเดือนได้ และต้องเเจ้งสถานะลูกหนี้ให้นายจ้างทราบว่ามีหนี้ โดย พ.ร.บ. นี้จะมีผลผูกพันกับผู้กู้เงินเดิมด้วย หลังจากผ่านพ้นช่วงคาบลูกคาบดอก ล่าสุด วันที่ 1 ต.ค. 2561 ทาง กยศ.ได้ทำการประสานไปยังหน่วยงานข้าราชการ เเละได้เริ่มนำร่องหักเงินเดือนผู้กู้กยศ.ที่ทำงานในกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานเเรกไปเป็นที่เรียบร้อยเเล้ว
 

 

    เบื้องต้นจะเริ่มหักเงินเดือนของผู้กู้ที่อยู่ในทุกหน่วยราชการที่ผ่านระบบจ่ายตรงของกรมบัญชีกลาง และในช่วงต้นปีหน้าจะเริ่มทำการหักจากเงินเดือนของผู้กู้ที่อยู่ในหน่วยงานเอกชนกว่า 8-9 เเสนคน โดยจะเริ่มจากบริษัทที่มีจำนวนพนักงานมากที่สุดไล่ลงมาตามลำดับ

 

    ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีจากภาพรวมในการชำระหนี้ที่ดีขึ้น ในห้วงปีที่ผ่านมาหลัง มี พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ปรากฏว่ามีผู้กู้เข้ามาติดต่อขอชำระหนี้ กยศ.เป็นจำนวนมากขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่าตัว ทำให้ได้รับเงินคืนกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท และคาดการณ์ต่อไปว่าในปี 2561 จะได้รับเงินกลับมาหมุนเวียนมากว่า 3 หมื่นล้านบาท

 

    เป็นที่น่าสนใจว่าจากการลงดาบของภาครัฐในครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นให้เหล่า "ผู้กู้" หรือ "ลูกหนี้" ได้กลับมาตระหนักถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนได้หรือไม่ และจะฟื้นคืนจิตสำนึกที่หายไปกับเงินหมุนเวียนมหาศาลได้มากน้อยเพียงใด คงต้องติดตามกันต่อไป

 

 

เมื่อ "ชักดาบ" ก็ต้อง "ลงดาบ" รัฐบาลเอาจริงเตรียมหักเงินเดือนผู้กู้ กยศ. ตามลำดับ