"อ.เจษฎ์"ชำแหละชัดๆ อุปกรณ์ประหยัดน้ำมันรถ ที่แท้ใช้ได้จริงหรือไม่

"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ระบุ "เตือนระวัง อย่าหลงเชื่อโฆษณาหลอกขาย อุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน"

"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ระบุข้อความว่า 

"เตือนระวัง อย่าหลงเชื่อโฆษณาหลอกขาย อุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน"

ในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นมากอย่างตอนนี้ ก็มีอุปกรณ์ที่อ้างว่าสามารถทำให้ยานพาหนะประหยัดการใช้พลังงานขึ้นได้ ออกมาจำหน่ายมากมายหลายยี่ห้อเลยครับ

ซึ่งหลักๆ แล้ว ก็มักจะเป็นอุปกรณ์ที่แอบอ้างหลอกลวง หรือโฆษณาเกินจริงด้วยการใช้คำพูดเชิง pseudo science วิทยาศาสตร์ลวงโลก มาทำให้ดูน่าเชื่อถือ ... แล้วตามด้วยการอ้าง "ผู้ใช้" มาบอกต่อกันว่าประหยัดจริงๆ อย่างนั้น อย่างนี้ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นอุปปาทานไปกันเอง เพราะไม่ได้ใช้เครื่องมือวัดที่ถูกต้อง .. หรือว่าเป็นหน้าม้าร่วมด้วย)

1. อย่างภาพโฆษณาของสินค้าเก่าที่พอจะหาภาพเจอ (ขายในปี พ.ศ. 2558) อันนี้ ที่เอาไปพันกับท่อในเครื่องยนต์แล้วอ้างว่าประหยัดน้ำมันได้ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายถึงการหลอกขายได้ เช่น

- อ้างเรื่องพลังงานที่ไม่มีอยู่จริง คือ พลังงานสเกล่าร์ ซึ่งอ้างว่าเป็นพลังงานธรรมชาติจากหินลาวาภูเขาไฟ ทำให้ร่างกายสมดุล มาผลิตเป็นเครื่องประดับ (ซึ่งถ้าใครจำได้ มันคือเรื่อง "เหรียญควอนตัม" หลอกลวง นั่นแหละครับ) ซึ่งก็ชัดเจนว่าไม่ได้

- อ้างเรื่องที่มีอยู่จริง คือ แม่เหล็ก แต่เอาไปเคลมแบบมั่วๆ ว่าเป็นพลังงานที่เอาไปใช้เสริมสร้างร่างกาย รักษาโรคได้ ทำให้สมดุลร่างกายดีขึ้น (ซึ่งก็ไม่จริงนะ เป็นเรื่องอ้างมั่วๆ กันมานานแล้ว) ดังนั้น เมื่อเอามาใช้กับเครื่องยนต์ จะทำให้เครื่องยนต์เกิดสมดุลขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น (เชื่อมโยงกันยังไงเนี่ย สมดุลในร่างกายคน กับสมดุลในเครื่องยนต์รถ)

- อีกเรื่องที่มีอยู่จริง แต่มาอ้างมั่วๆ คือ ฟาร์ อินฟาเรด ซึ่งจริงๆ ก็เป็นแค่ช่วงคลื่นของแสงที่อยู่เหนือช่วงอินฟาเรด (ช่วงคลื่นของแสงที่ตามองไม่เห็น และทำให้เกิดความร้อน) ขึ้นไป ซึ่งมีคนเยอะเลยที่ชอบเอามาอ้างกันเกินจริง ว่ามีผลดีต่อสุขภาพอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้โมเลกุลของน้ำแตกตัว เล็กลง นำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเร็วขึ้น ฯลฯ (ซึ่งก็ไม่จริงนะ อ้างกันมั่วๆ ) แล้วเอามาเชื่อมโยงกับน้ำมันรถยนต์ อ้างว่าทำให้โมเลกุลน้ำมันหรือแก๊สแตกตัว เล็กลง เผาไหม้สมบูรณ์ขึ้น (ซึ่งทั้งไม่จริง และทั้งเชื่อมโยงได้มั่วมาก)

- จากนั้น ก็ตามด้วยการเอา "ผู้ใช้" มาอ้างว่าใช้แล้วประหยัดน้ำมันขึ้น ซึ่งเราไม่มีทางรู้ว่าเป็นเรื่องจริง หรือเป็นการหลอกโดยหน้าม้า หรือว่าเป็นแค่อุปปาทานของคนนั้นคิดไปเอง ซึ่งการจะรู้ได้ว่าประหยัดน้ำมันแค่ไหนจริง แต่ผ่านการทดสอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ และอุปกรณ์เฉพาะ

"อ.เจษฎ์"ชำแหละชัดๆ อุปกรณ์ประหยัดน้ำมันรถ ที่แท้ใช้ได้จริงหรือไม่

2. จริงๆ เรื่องพวกนี้ ก็มีการเตือนกันมานานแล้ว อย่างข่าวนี้ ตั้งแต่ปี 2552 (http://www.bt-50.com/topic.php?q_id=8515) "ปตท. ออกโรง เตือนผู้บริโภค ระวัง โดนแหกตา อุปกรณ์เสริมและสารเคมีที่ช่วยประหยัดน้ำมัน ไม่สามารถช่วยประหยัดน้ำมันได้จริง ผลพิสูจน์แล้ว ไม่มีรายใดผ่านมาตรฐานสากล เพียงแค่ผู้ผลิตอ้างสรรพคุณให้หลงเชื้อเท่านั้น"

- ดร. ธานินทร์ อุทวนิช ผู้จัดการฝ่ายวิจัยวิศวกรรมและเครื่องยนต์ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในช่วงที่เกิดภาวะราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเวลานี้ ได้ส่งผลให้มีผู้ประกอบการหลายรายได้ออกมาเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการใช้น้ำมันของยายนต์ในตลาดมากขึ้น โดยจะอ้างคุณสมบัติในการช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้หลาย 10 % และเมื่อราคาน้ำมันลดลงมาอยู่ในภาวะปกติ สินค้าเหล่านี้จะค่อยๆ ลดกิจกรรมด้านการตลาดลง

- ซึ่งจากประสบการณ์ในรอบ 20 ปีที่ทำงานด้านนี้มา พบว่ามีสินค้าที่อ้างว่าช่วยประหยัดน้ำมันได้จะมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่

- กลุ่มแรก ได้แก่เป็นอุปกรณ์เสริมติดตั้งในรถยนต์ (เช่น แม่เหล็กแรงสูง นำไปรัดติดกับท่อน้ำมันก่อนเข้าสู่เครื่องยนต์ , ท่อเพิ่มพลังงาน ติดตั้งโดยการตัดท่อเข้ากับท่อส่งน้ำมัน , ท่อช่วยรีดดูดไอเสีย ประกอบด้วยครีบโลหะภายใน ติดตั้งที่ปลายท่อไอเสีย , เครื่องเพิ่มออกซิเจน ฯลฯ )

- กลุ่มที่ 2 เป็นประเภทสารเคมี "หัวเชื้อ" สำหรับเติมลงในน้ำมันเชื้อเพลิงหรือน้ำมันหล่อลื่น

- จึงอยากขอเตือนว่า ผู้บริโภคที่ใช้อุปกรณ์เสริมและสารเคมีที่ช่วยประหยัดน้ำมันนี้ ไม่สามารถประหยัดน้ำมันได้ตามที่มีการอ้างสรรพคุณ เนื่องจากผู้ที่อ้างตัวเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นส่วนใหญ่ เป็นผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือวิศวกรรมอย่างเป็นทางการ และไม่สามารถหาข้อมูลของแหล่งผลิตที่อยู่ในรูปบริษัทที่เป็นตัวตนได้ ประกอบกับคำบรรยายสรรพคุณของสินค้า ไม่มีหลักทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน แหล่งต้นตอของสินค้าประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะมาจากทางไต้หวันและญี่ปุ่น และคนไทยได้ทำเลียนแบบหรือดัดแปลงขึ้น

- อีกทั้งการทดสอบการประหยัดน้ำมันตามที่อวดอ้าง จะเป็นวิธีการของผู้ทำหรือผู้ขายเอง ไม่ใช่วิธีการที่เป็นมาตรฐานสากลที่ทางอุตสาหกรรมยานยนต์ยอมรับกันอยู่ในปัจจุบัน

- ซึ่งวิธีการทดสอบการประหยัดน้ำมันที่ใช้เป็นมาตรฐานในประเทศไทยจะใช้คือ มอก.1870-2542 เทียบเท่ากับมาตรฐาน ยูโร 2 และ มอก.2160-2546 เทียบเท่ามาตรฐาน ยูโร 3

- ซึ่งในช่วงระยะหลายปีที่ผ่านมา ได้มีผู้นำสินค้าเหล่านี้หลายราย มาว่าจ้างให้ทางสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ทำการทดสอบการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไม่เคยมีรายใดสามารถแสดงผลการประหยัดน้ำมันได้อย่างมีนัยสำคัญ ตามมาตรฐานที่กำหนดได้

- ในสภาพที่เป็นจริง การแข่งขันทางธุรกิจ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์และผู้จำหน่ายปิโตรเลียมทั่วโลกทุกวันนี้ ใช้นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์และงบประมาณเป็นจำนวนมาก เพื่อทำการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ยานยนต์ที่ประหยัดเชื้อเพลิงและปล่อยมลพิษน้อยที่สุด ... หากมีการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ในการช่วยประหยัดน้ำมัน สิ่งเหล่านี้จะถูกนำมาอยู่ในผลิตภัณฑ์ยานยนต์ เพื่อเป็นการดึงดูดให้ประชาชนมาซื้อ โดยที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อหาซื้อสิ่งพิเศษมาใช้ ... นอกจากจะไม่คุ้มค่าเงินแล้ว ยังอาจจะต้องเสี่ยงกับผลร้ายข้างเคียงที่จะเกิดกับรถยนต์ด้วย

3. ในอดีตนานแล้ว (ปี พ.ศ. 2547) ก็เคยมีกรณีของสินค้าที่แอบอ้างว่าประหยัดน้ำมันได้ ชื่อว่า E-Plus (เสียดายว่าหารูปประกอบไม่เจอแล้ว) ซึ่งเคยเป็นข่าวใหญ่ เพราะดันผ่านการรับรอง แนะนำ โดยหน่วยงานของรัฐอย่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แต่มาถูกเปิดโปงพิสูจน์ได้ภายหลังว่าไม่ได้ประหยัดน้ำมันจริง 

- เรื่องย่อๆ คือ ในปีนั้น มีการเปิดตัวอุปกรณ์ชื่อ อี – พลัส (E–PLUS) โดยหน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ อย่าง วว. ซึ่งอ้างว่าเป็นอุปกรณ์ประหยัดน้ำมันได้ ด้วยฝีมือนักวิจัยคนไทย ทำให้มียอดจองกว่า 2 หมื่นเครื่อง ในเวลาเพียงเดือนเศษ

- แต่ไม่นาน คุณ กร ทัพพะรังสี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ ในขณะนั้น ได้ออกมาสั่งเบรกการติดตั้งอุปกรณ์อี – พลัส ให้กับลูกค้า เพราะยังไม่มีการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานกลาง

- พร้อมกันนั้น ประธานคณะกรรมการของ วว. ก็ออกมาแถลงว่า บอร์ด วว. พิจารณาแล้ว เห็นว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่ได้ผ่านขั้นตอนการวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ บอร์ดจึงให้มีมติให้กลับไปวิจัยทดสอบใหม่ และให้หยุดกิจกรรมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งหมดเอาไว้

- หลังจากนั้น ทางนิตยสาร "ฟอร์มูล่า" นิตยสารรถยนต์ชื่อดัง ได้นำอุปกรณ์ "อี-พลัส" มาทดสอบติดตั้งในรถยนต์ และวิ่งบนแท่นวัดกำลังเครื่อง หรือไดนาโม มิเตอร์ เพื่อวัดสมรรถนะว่าจะสามารถเพิ่มกำลังและแรงบิด ตามที่โฆษณาไว้หรือไม่

- ผลทดสอบปรากฏว่า ทั้งกำลังและแรงบิด ไม่เพิ่มขึ้นเลย เมื่อเทียบกับก่อนการติดตั้ง ทำให้ที่อ้างว่าอุปกรณ์นี้จะช่วยเพิ่มได้ถึง 5 % นั้น ไม่เป็นความจริง!

- แล้ว "ฟอร์มูล่า" ก็ทำการทดสอบหาอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทั้งก่อนและหลังใส่อุปกรณ์ โดยวัดระยะทางที่รถวิ่งได้ด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงที่เท่ากันในแต่ละครั้ง ทั้งแบบวิ่งบนถนนใช้งานจริง และวิ่งบนแท่นไดนาโมมิเตอร์ รวมกับคณะวิศวกรรมยานยนต์ มหาวิทยาลัยรังสิต

- ผลการทดสอบ จากวิ่งบนถนนสภาพการใช้งานจริง เมื่อติดตั้งอุปกรณ์เข้าไปแล้ว กลับมีอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงสูงขึ้น 2.9 %

- ผลการทดสอบบนไดนาโมมิเตอร์ เมื่อติดตั้งอุปกรณ์เข้าไปแล้ว กลับมีอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงสูงขึ้น 0.17 %

- จากการทดสอบทั้งเรื่องของการเพิ่มกำลัง และลดอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง จากการติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน หรืออี-พลัส จึงฟันธง! ได้เลยว่า.....เป็นการโกหกระดับชาติกันเลยทีเดียว!!

- รมต. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คุณสุวิทย์ คุณกิตติ ในเวลานั้น จึงสั่งให้ระงับการผลิตและยุติการขาย ส่วน ผู้ว่าการ วว. ได้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

4. คำแนะนำสำหรับ #การขับรถให้ประหยัดน้ำมัน จาก ปตท. ครับ (https://www.thansettakij.com/pr-news/general-news/520027)

1. ไม่เหยียบเบรกกะทันหัน : การเหยียบเบรกกะทันหัน หรือบ่อยเกินความจำเป็น จะสิ้นเปลืองน้ำมันสูงถึง 40% และยังส่งผลเสียต่อตัวเครื่องยนต์อีกด้วย

2. ขับรถด้วยความเร็วคงที่ ไม่ช้าเกินไป หรือเร็วมากเกิน : รักษาความเร็วให้คงที่ หรือใช้ความเร็วที่สม่ำเสมอกัน 60 - 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วยให้รถประหยัดน้ำมัน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายบนท้องถนนด้วย

3. เปลี่ยนน้ำมันเครื่องและตรวจเช็กเครื่องยนต์ตามระยะทาง : การตรวจเช็กสภาพรถเป็นประจำตามคำแนะนำของศูนย์บริการ จะช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 3 - 9% เลยทีเดียว

4. บรรทุกของเท่าที่จำเป็น : ยิ่งบรรทุกของมาก ยิ่งทำให้รถต้องใช้พละกำลังในการขับเคลื่อนมากขึ้นไปด้วย ยิ่งกินน้ำมันมากขึ้น

5. จัดของที่จะบรรทุก บนรถกระบะ : จัดวางสิ่งของให้สมดุล ไม่อยู่ด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป นอกจากนี้ ก็ไม่ควรจะขับรถเร็ว ควรวิ่งชิดเลนซ้าย ใช้ความเร็วสม่ำเสมอ ประมาณ 80 – 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็จะช่วยประหยัดน้ำมันได้มากถึง 15 – 20 % เลยทีเดียว

"อ.เจษฎ์"ชำแหละชัดๆ อุปกรณ์ประหยัดน้ำมันรถ ที่แท้ใช้ได้จริงหรือไม่

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ thainewsonline