"แอมเนสตี้" ออกคำสั่ง !! ยกเลิกข้อกล่าวหานศ.ลุยราชภักดิ์   -ชี้ ประชาชนควรมีเสรีภาพ

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th

 

"แอมเนสตี้" เรียกร้องไปถึงนายกฯ ยกเลิกข้อกล่าวหากับ กลุ่มที่ทำกิจกรรมไปตรวจสอบอุทยานทุจริตราชภักดิ์  พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกการจับกุมนักศึกษาที่ชุมนุม 5 คนขึ้นไป เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีเสรีภาพ

 

 

 

วันนี้ ( 24 ม.ค.)  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า   สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เรียกร้องทางการยกเลิกข้อกล่าวหาต่อนักกิจกรรมทั้งหมด ในข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย หลังจากที่พวกเขาทำกิจกรรมอย่างสงบเพื่อเรียกร้องให้เกิดการสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตของเจ้าหน้าที่ ให้ดำเนินการสอบสวนกรณีการลักพาตัวและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 และไม่ลงโทษผู้ที่ใช้สิทธิดังกล่าวอย่างชอบธรรม รวมถึงการกด ‘ไลค์’ หรือการแชร์ข้อมูลออนไลน์ซึ่งการรณรงค์ดังกล่าวจะมีไปถึง 4 มีนาคม 2559

 

 

 


          ปฏิบัติการด่วน: นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวอย่างสงบถูกจับกุมและโดนแจ้งข้อหา
          นักกิจกรรมห้าคนถูกจับกุมระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม 2559 โดยมีรายงานว่าหนึ่งในนั้นถูกลักพาตัว และถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายโดยเจ้าหน้าที่ทหารก่อนจะถูกส่งตัวที่สถานีตำรวจ นอกจากนักกิจกรรมทั้งห้าคนนี้ ยังมีนักกิจกรรมอีกหกคน ต้องเข้ารับการพิจารณาคดีในศาลทหาร และอาจได้รับโทษจำคุกนานถึงหกเดือน หรือเสียค่าปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ จากการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสงบเพื่อแสดงมีการทุจริตของเจ้าหน้าที่

 

 

 


          เมื่อเวลา 22.30 น. ของวันที่ 20 มกราคม ชายแปดคนซึ่งปกปิดใบหน้าและแต่งกายชุดทหารได้เดินทางมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่กรุงเทพฯ พร้อมกับยานพาหนะสองคันซึ่งไม่มีแผ่นป้ายทะเบียน จากนั้นได้บังคับให้นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ซึ่งเป็นนักศึกษาเข้าไปในรถคันหนึ่ง เขาบอกกับผู้สื่อข่าวในเวลาต่อมาว่า ระหว่างอยู่ในรถได้ถูกคลุมศีรษะ และมีการขับรถพาไปยังสถานที่หนึ่งซึ่งไม่ทราบว่าเป็นที่ใด จากนั้นเขาถูกตบและเตะ และถูกวัตถุลักษณะแข็งและคมจี้ที่บริเวณแผ่นหลัง รวมถึงถูกด่าทอ หลังจากเขาปฏิเสธคำสั่งไม่ยอมคุกเข่าลงที่พงหญ้า ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 21 มกราคม เจ้าหน้าที่จากกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 พัน 2 รอ.) ได้นำตัวเขาส่งมอบสถานีตำรวจนิมิตรใหม่ กรุงเทพฯ จากนั้นมีการนำตัวเขาไปยังสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ เช่นกัน มีการแจ้งข้อหาและจับกุมอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 4.00 น. ของวันที่ 21 มกราคม

 

 

 


          นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เป็นหนึ่งในนักกิจกรรมหกคนซึ่งทางการออกหมายจับ เนื่องจากไม่ไปรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี กรุงเทพฯ หลังได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาชุมนุมทางการเมืองอย่างผิดกฎหมาย น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ซึ่งเป็นนักศึกษา และนักกิจกรรมคือนายกรกช แสงเย็นพันธ์ นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ และ น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ ต่างถูกจับกุมในวันที่ 21 มกราคมเช่นกัน พวกเขาถูกสั่งฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพฯ ข้อหาละเมิดคำสั่งห้ามมั่วสุมหรือชุมนุม ‘ทางการเมือง’ ของบุคคลห้าคนหรือมากกว่าขึ้นไป และศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวระหว่างรอการไต่สวน ส่วนนายธเนตร อนันตวงษ์ เชื่อว่าได้เดินทางออกจากประเทศไทยแล้ว

 

 

 


          นักกิจกรรมทั้งหกคนรวมทั้งนายกิตติธัช สุมาลย์นพ นายวิศรุต อนุกูลการย์ น.ส.กรกนก คำตา นายวิจิตร หันหาบุญ และทนายอานนท์ นำภา อาจได้รับโทษจำคุกนานถึงหกเดือน หรือถูกปรับเป็นเงิน 10,000 บาท (276 ดอลล่าร์สหรัฐ) หรือทั้งจำทั้งปรับ ภายหลังการพิจารณาคดีที่อาจไม่เป็นธรรมในศาลทหาร นักกิจกรรมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของนักกิจกรรม 37 คนที่ถูกควบคุมตัวหลายชั่วโมงเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558 ระหว่างเดินทางด้วยรถไฟไปยังโครงการอุทยานราชภักดิ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อแสดงให้เห็นข้อกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ทหารและทางการกระทำการทุจริตระหว่างการก่อสร้างโครงการนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงเชิญชวนให้เขียนส่งจดหมายถึงทางการไทยโดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

 

 

 


          กระตุ้นทางการให้ยกเลิกข้อกล่าวหานักกิจกรรมทั้งหมด ในข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย หลังจากที่พวกเขาทำกิจกรรมอย่างสงบเพื่อเรียกร้องให้เกิดการสอบสวนตามข้อกล่าวหาว่ามีการทุจริตของเจ้าหน้าที่กระตุ้นทางการให้ดำเนินการสอบสวนโดยพลัน ไม่ลำเอียง เป็นอิสระ และเกิดประสิทธิผลต่อกรณีการลักพาตัวและการปฏิบัติอย่างโหดร้ายต่อนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เรียกร้องทางการให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ที่กำหนดบทลงโทษกับการมั่วสุมหรือชุมนุม ‘ทางการเมือง’ ที่มีจำนวนห้าคนหรือมากกว่าขึ้นไปกระตุ้นทางการให้อนุญาตให้มีการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกอย่างสงบ และไม่ให้ลงโทษผู้ที่ใช้สิทธิดังกล่าวอย่างชอบธรรม รวมทั้งการกด ‘ไลค์’ หรือการแชร์ข้อมูลออนไลน์