"รัฐบาล" ยัน ! ฤดูเเล้งนี้ "มีน้ำเพียงพอ" ชี้ ขั้นวิกฤตเเค่ "โคราช-บุรีรัมย์-สุรินทร์"

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม www.tnews.co.th

"อธิบดีกรมชลฯ" เผย ! ความเเล้งปีนี้รุนเเรงที่สุดในรอบ 20 ปี  เเต่ยืนยันว่ามีน้ำเพียงสำหรับปีนี้เเล้ว  โดยจังหวัดที่เข้าขั้นวิกฤตมีเพียง "โคราช-บุรีรัมย์-สุรินทร์"

 

วันนี้(29 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง "รัฐ ราษฎร์ ร่วมใจรับมือภัยแล้ง"

 

โดย นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำปีนี้มีความแล้งรุนแรงในรอบ 20 ปี ใกล้เคียงกับปี 37 โดยในปี 56 - 57 ก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามาบริหารราชการ พบว่า มีน้ำต้นทุนน้อยอยู่แล้วประมาณ 8 พันล้าน ลบ.ม.และมีการระบายออก 6 พันล้าน ลบ.ม.มีการปลูกพืชกว่า 9 ล้านไร่ เนื่องจากราคาผลผลิตสูง ทำให้เมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารราชการในปี 57 - 58 มีน้ำต้นทุนเพียง 6,777 ล้าน ลบ.ม.และมีการระบายน้ำไปกว่า 4 พันล้าน ลบ.ม.ประกอบกับฝนไม่ตก

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปี 58 - 59 ณ ข้อมูลวันที่ 1 พ.ย.58 มีน้ำต้นทุน 4,247 ล้าน ลบ.ม.และจะมีน้ำใช้อุปโภคบริโภคได้ไปจนถึงเดือน พ.ค.นี้ ขณะที่ค่าความเค็มก็ไม่น่ากังวล ซึ่งวัดได้ที่ 0.18 กรัมต่อลิตร ถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์อยู่มากและสามารถควบคุมได้

 

นายเชาวลิต ศิลปะทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือจิสด้า กล่าวว่า ขณะนี้น้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ ลดลงทุกแห่ง มีเพียงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เท่านั้น ที่ยังพอมีน้ำไหลเข้าอยู่บ้าง ขณะที่แหล่งน้ำขนาดเล็กในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถือว่ายังมีน้อยอยู่ ส่วนการทำนาปรังในฤดูการปลูกปี 56/57 มีจำนวน 15 ล้านไร่ทั่วประเทศ แต่เมื่อปี 57/58 ครึ่งหนึ่ง และเมื่อรัฐบาลมีการขอความร่วมมือทำให้มีพื้นที่ปลูกนาปรังประมาณ 4 ล้านไร่ ส่วนในเขตชลประทานลุ่มเจ้าพระยา เหลือไม่ถึง 3 ล้านไร่

 

นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ภาพรวมประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนต่อปี 7 แสนกว่าล้าน ลบ.ม.ซึ่งระเหยและซึมใต้ดิน 5 แสนกว่าล้าน ลบ.ม.ใช้การได้เพียง 2.1 แสนล้าน ลบ.ม.โดยเขื่อนสามารถและแหล่งเก็บน้ำต่างๆ สามารถกักเก็บไว้ได้เพียงประมาณ 8 หมื่นล้าน ลบ.ม.ซึ่งพื้นที่ที่ใช้น้ำมากที่สุด คือ พื้นที่การเกษตรที่มีถึง 149 ล้านไร่ อยู่ในพื้นที่ชลประทาน 30 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 119 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันน้ำในเขื่อนต่างๆ มี 20,700 ล้าน ลบ.ม.และถ้าแบ่งปริมาณการใช้น้ำแล้ว เราใช้น้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค ถือว่าสำคัญที่สุด 4% น้ำสำหรับอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวรวมกัน 3% น้ำสำหรับรักษาระบบนิเวศ 18% ส่วนที่เหลือ 75% จะใช้สำหรับการเพาะปลูก ถ้าเราลดน้ำเพาะปลูกได้เพียง 5% ก็จะมากกว่าการใช้น้ำอุปโภคบริโภคของทั้งประเทศ จึงเป็นเหตุผลในการมุ่งเน้นประหยัดน้ำ พัฒนาการการปลูกพืชน้ำน้อย

 

นายสุพจน์ กล่าวว่า ปริมาณน้ำในขณะนี้หากดูเป็นรายเขื่อน เช่น เขื่อนภูมิพล ตอนนี้มีน้ำใช้ได้อยู่ 986 ล้าน ลบ.ม.ระบายน้ำวันละ 5 ล้าน ลบ.ม.หากเป็นเช่นนี้จะสามารถปล่อยน้ำได้ถึงวันที่ 15 ส.ค.59 จนถึงฤดูฝน ขณะที่เขื่อนศรีนครินทร์ยังสามารถปล่อยน้ำได้ถึงปี 60 ทำให้เห็นว่าแผนการระบายน้ำยังสามารถยืดหยุ่นช่วยเหลือประชาชนได้หากมีวิกฤต อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เราทำแผนที่ขาดแคลนในลักษณะกว้างๆ ภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ชี้เป้าแก้ปัญหายาก แต่ปีนี้เราจะลงพื้นที่เป็นรายอำเภอ โดยมีทั้งหมด 928 อำเภอ ซึ่งมีน้ำอยู่ปริมาณ 2 หมื่นกว่าล้าน ลบ.ม.ซึ่งมากกว่าความต้องการใช้น้ำ เพียงแต่พื้นที่ที่ต้องการน้ำอยู่คนละจุดกับพื้นที่ที่มีน้ำ จึงเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ หากกระจายน้ำไปสู่จุดที่ต้องการได้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่ได้ทำการเชื่อมโยงกันทั้งหมด ทำไปเพียงบางส่วนเท่านั้น

 

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ทั้งนี้ มีพื้นที่ขาดแคลนน้ำ จำนวน 548 อำเภอ หรือ 59% ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปแก้ไข ใช้วิธีจัดกลุ่มจังหวัดเป็น 18 กลุ่ม แล้วเข้าไปแก้ปัญหา จะให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ประชาชนไม่ต้องขาดแคลนน้ำ ส่วนของเกษตรได้ขอความร่วมมือแล้วให้ระมัดระวังการใช้น้ำ จาก 18 กลุ่ม มีกลุ่มที่วิกฤตมีเพียงกลุ่มเดียวคือ กลุ่มจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ส่วนที่เหลือยังเป็นกลุ่มเฝ้าระวังและสถานการณ์ปกติ อย่างไรก็ตาม ใน 548 อำเภอ จะมีมาตรการขุดบ่อบาดาลทั้งสิ้น 4,300 บ่อ ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดสรรงบประมาณไปแล้ว 6,800 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการดำเนินการ

 

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ความคืบหน้าผลการดำเนินงาน 8 มาตรการ ภายใต้โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 58/59 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตภัยแล้ง คือ 1.ส่งเสริมความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต 2.ชะลอหรือขยายเวลาชำระหนี้ 3.การจ้างงาน 4.การเสนอโครงการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชน 5.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักคิดในการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย 6.การเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน อาทิ การปฏิบัติการฝนหลวงและการทำแก้มลิง 7.การเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ 8.การสนับสนุนอื่นๆ อาทิ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ให้สินเชื่อแก่วิสาหกิจชุมชนและกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ยระยะเวลา 6 เดือน

 

นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน โดยมีมาตรการต่างๆ ภายใต้การทำงานในรูปแบบ "ประชารัฐ" โดยมีมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ดำเนินการในพื้นที่ 7,255 ตำบล งบประมาณ 36,275 ล้านบาท มาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน จำนวน 3,827 โครงการ งบประมาณ 3,200 ล้านบาท โครงการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับกลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ในพื้นที่ 21 จังหวัด โดยจัดสรรงบจำนวน 421 รายการ เป็นเงิน 254 ล้านบาท มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและส่งเสริมให้มีการลงทุนทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจจัดทำแผนการดำเนินการในวงเงินจัดซื้อ/จัดจ้าง รายการละไม่เกิน 1 ล้านบาท นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้จังหวัดนำความต้องการของประชาชน เสนอเป็นโครงการตามแผนพัฒนาอาชีพเกษตรกรตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้งปี 2558/59

 

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมได้นำกำลังพลเข้าช่วยเหลือในการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนต่างๆ เช่น การขุดลอกคูคลอง การขุดบ่อบาดาล สร้างฝาย ระบบประปา ตั้งเป้าว่าปี 59 จะส่งน้ำปริมาณ 60 ล้านลิตรในพื้นที่ประสบภัยให้ได้ ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะไม่ปล่อยให้ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค แต่น้ำเพื่อการเกษตรขอให้เข้าใจว่าอยู่ในภาวะขาดแคลนไม่สามารถสนับสนุนได้ตามปกติ ขอให้เข้าใจสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและทำตามคำแนะนำของรัฐ โดยขอให้มองประโยชน์ในภาพรวมเป็นหลัก และใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและไม่ขัดแย้งกันเอง ซึ่งถือว่าภัยแล้งในปีนี้เป็นความท้าทายของประชาชนทั่วประเทศที่ต้องร่วมกันแก้ปัญหาให้ได้