"วันชัย" เผย 8 จุดอ่อนร่างรธน.  ต้องเร่งแก้ไข !!

ติดตามข่าวสารข้อมูล www.tnews.co.th


"วันชัย สอนศิริ" พบ 8 ช่องโหว่ร่างรธน.ใหม่   เช่น ในร่างไม่ได้ระบุชัด ประชาชนมีส่วนร่วมพรรคการเมือง , การเพิ่มอำนาจให้ศาลรธน.มากเกินไป , ไม่ได้ระบุชัด ผู้สมัครสมัครต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ประชาชนทราบ

 

 

วันนี้ ( 3 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า สปท.การเมืองได้ประชุมเพื่อหารือถึงรัฐธรรมนูญร่างแรกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในภาพรวมถือว่ามีเนื้อหาดี แต่ยังมีจุดบกพร่องที่ควรปรับปรุงได้แก่ 1.การเลือกตั้งระบบจัดสรรปัน 2.การเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว 3.เรื่องการเลือกตั้งส.ว. 20 กลุ่มอาชีพ แบบไขว้กันระหว่างกลุ่ม 4.พรรคการเมือง ซึ่งในรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุถึงกลไกที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรคการเมืองอย่างแท้จริง 5.คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่กรธ.ไม่ได้ระบุให้ผู้สมัครต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีย้อนหลังให้ประชาชนทราบ 6.การเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป 7.การให้พรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 คน และ 8.การปิดช่องให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากในทางปฏิบัติ อาจทำให้เกิดวิกฤติในอนาคตได้ ประเด็นเหล่านี้เป็นจุดอ่อนในรัฐธรรมนูญที่ สปท.การเมืองจะรายงานต่อที่ประชุม สปท.ในวันที่ 8-9 ก.พ.นี้ เพื่อให้ทำเป็นมติ สปท.เสนอต่อกรธ.นำไปทบทวนแก้ไขต่อไป เชื่อว่าหาก กรธ.รับฟังความเห็น และปรับปรุงแก้ไข จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ แต่หากยังยืนยันตามร่างเดิม อาจจะถูกต่อต้านจนไม่ผ่านประชามติได้

 

 

 


          ทางด้านนายวิทยา แก้วภราดัย สปท.ด้านการเมือง กล่าวถึงการประชุมร่วมกันของ สปท. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ กรธ.ในวันที่ 3 ก.พ.นี้ เพื่อซักถามประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า กมธ.การเมืองมีมติเสนอคำถามที่จะถาม กรธ. 4 ข้อ คือ 1.หลังร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้ไปแล้ว ได้กำหนดให้ กรธ.จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับ และกำหนดให้ สปท.ทำงานอีก 1 ปี จึงจะถาม กรธ.ว่าในช่วงเวลา 1 ปีที่เหลือภารกิจของสปท.จะทำอะไรต่อ 2.กรณีที่ห้าม ส.ส.แปรญัตติงบประมาณ ที่รัฐธรรมนูญเขียนว่าโครงการใดๆ ในความหมายคือมีอะไรบ้าง 3. เรื่องสิทธิเสรีภาพ ของปวงชนชาวไทย ในเรื่องความเสมอภาคของต่างด้าว ในความเป็นมนุษย์จะได้รับความเสมอภาคเหมือนคนไทยหรือไม่ และ 4.หลังจากจากนี้ไปแล้ว กรธ.จะมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ สปท.อีกหรือไม่ ทั้งนี้คำถามดังกล่าวนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.การเมือง จะเป็นผู้เสนอคำถาม อย่างไรก็ตามยืนยันว่า การประชุมในวันที่ 3 ก.พ.เป็นการเป็นการประชุมเพื่อซักถาม กรธ.ในประเด็นที่ไม่เข้าใจ และไม่มีความชัดเจนในร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด.