"มีชัย" ลั่น !! ลงประชามติ 31 ก.ค. หากไม่คลาดเคลื่อน - ชี้ "ครม." โกง โดนตะเพิดยกชุด !!

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"มีชัย ฤชุพันธุ์" ยืนยันร่างรธน.ฉบับนี้เป็นสากล แก้ปัญหาตามวิถีทางตัวเอง เพียงแค่แตกต่างจากประเทศอื่น - ชี้หากครม.ทุจริต โดนฟันยกชุด คาดลงประชามติ 31 ก.ค.นี้ คลาดเคลื่อนไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ วอนนักการเมืองอย่าบิดเบือนร่างรธน. !!

 

วันนี้ (11 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวเปิดงาน สัมมนาในหัวข้อ "บทบาทของผู้หญิงกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่" ของคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยระบุเนื้อหาว่า ยืนยันถึงความก้าวหน้าของร่างรัฐธรรมนูญ เช่น สิทธิเสรีภาพของสังคมไทยที่กว้างขึ้น อะไรที่เป็นเรื่องสำคัญจะกำหนดเป็นหน้าที่ของรัฐ กรธ.ยังใส่ความก้าวหน้าให้ประชาชนได้ประโยชน์ และไม่ไห้ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมด้วย รวมถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการสร้างความเป็นธรรมทางการเมือง โดยเฉพาะการใช้สิทธิเลือกตั้ง
         


"บางคนอ่านร่างรัฐธรรมนูญเพียงบางช่วงแล้วรู้สึกว่าครอบคลุมไม่ถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่ถ้าอ่านครบจะรู้ว่าครอบคลุมตามสมควร ที่พูดไม่ได้จะบอกว่าสิ่งที่ กรธ.ทำแล้วจะยุติแค่นั้น การเหลือเวลาทิ้งไว้เดือนเศษ เพราะสติปัญญาคนเขียนร่างรัฐธรรมนูญ 21 คนคงได้เท่านี้ จึงต้องฟังคนอื่นด้วยเพื่อจะได้นำกลับไปคิด แต่ขอให้ช่วยกันอ่านให้ละเอียดว่าขาดตกบกพร่องตรงไหน" นายมีชัย กล่าว
         


นายมีชัย กล่าวว่า มีพรรคการเมืองบิดเบือนว่า กรธ.วางกรอบการทำงานของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำให้บริหารงานได้ไม่เต็มที่นั้น ไม่เป็นความจริง ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นสากล คือต้องแก้ปัญหาของแต่ละประเทศตามวิถีทางของตัวเอง ไม่ได้หมายความว่าจะแตกต่างไปจากประเทศอื่นไม่ได้ ด้วยกลไกที่ กรธ.วางไว้จะช่วยให้การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล มีกรอบ มีวินัยพอสมควร ไม่ได้สกัดไม่ให้เขาทำอะไรตามนโยบายของเขาได้ เรื่องที่แปลกไปจากรัฐธรรมนูญอื่น
         


"มีคนถามว่ารัฐธรรมนูญเราเป็นสากลหรือไม่ ผมก็บอกว่าเป็น หลายเรื่องที่ไอ้กันโวยวายแทบเป็นแทบตาย แต่เราไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร เราก็ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องสีผิว เพราะคนอเมริกันเป็นเดือดเป็นร้อนเรื่องนี้มาก จึงต้องเขียนเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ประเทศอื่นเขาไม่เดือดร้อน ประเทศไทยก็ไม่มี แล้วก็ไม่เคยได้ยินว่าการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนไทยมีเรื่องสีผิวด้วย มีแต่สีคนไทย" นายมีชัย กล่าว
         


นายมีชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเวลา ครม.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะให้อยู่ไปก่อนจนกว่าจะมีชุดใหม่ทำหน้าที่ แต่เรายังไม่เคยคิดว่าถ้าพ้นทั้งคณะเพราะทุจริต เราจะให้เขารักษาการอย่างนั้นหรือ ตนคิดว่าไม่ควร ถ้าพ้นเพราะทุจริตจากหน้าที่เขาควรไปเลย กรธ.จึงไปนำฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาว่าในช่วงช่องว่าง 5-10 วัน ต้องให้ปลัดกระทรวงดูแลไปก่อน ได้ ครม.ใหม่
         


นายมีชัย ยังให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ออกมาระบุวันลงประชามติว่าอาจจะเป็นวันที่ 31 ก.ค. ว่า ตนคาดว่าการทำประชามติคงจะอยู่ในช่วงนั้น ไม่น่าคาดเคลื่อนเกิน 2-3 สัปดาห์ ส่วนกรณีที่มีความเห็นว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านอาจต้องนำเอารัฐธรรมนูญฉบับเก่าๆ มาใช้นั้น เรื่องนี้ตนมองว่ายังไกลไป อย่าเพิ่งไปคิดถึง ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดดีกว่า เรื่องอนาคตยังไม่มีใครจะคิดได้
         


ส่วนที่นายวิษณุเสนอให้เปิดเวทีอย่างกว้างขวางให้ประชาชนและนักการเมืองเสนอความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนุญนั้น นายมีชัย กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นรายละเอียด แต่คิดว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย ที่จะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ขออย่าบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้ได้ ที่ผ่านมา กรธ.พยายามจะอาศัยเวทีต่างๆ ชี้แจงอยู่เสมอในประเด็นที่ถูกบิดเบือนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เช่นเรื่อง ส.ส. ที่มีการไปบิดเบือนไปบอกว่า ส.ส.สมัยแรกมาจากการเลือกตั้ง 350 คนอีก 150 คนมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตรงนี้ตนก็คิดว่ามันเป็นประเด็นที่บิดเบือนเหมือนกัน ส่วนการบิดเบือนจะกระทบกับการทำประชามติไหม ก็ขึ้นอยู่กับว่า กรธ.จะสามารถชี้แจงได้ทันและทำให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงได้ทั่วถึงหรือไม่
         


ส่วนความเห็นเรื่องระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมทำให้พรรคเล็กอ่อนแอนั้น นายมีชัย กล่าวว่าฝั่งพรรคใหญ่ก็บอกว่าทำให้เขาอ่อนแอ พรรคเล็กก็บอกว่าทำให้เขาอ่อนแอ ตรงนี้จะเอายังไง ตนก็ตอบไม่ถูก แต่ขอยืนยันว่าเรื่องระบบเลือกตั้งนั้นมีวัตถุประสงค์ให้คะแนนเสียงของประชาชนมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งความเห็นของประชาชนต่อระบบเลือกตั้งของ กรธ.นั้น ไปที่จังหวัดใด ส่วนใหญ่เขาก็ชอบกันทุกคน
         


นายมีชัย กล่าวต่อถึงข้อวิจารณ์เรื่ององค์กรอิสระว่า กรธ.ทำให้เข้มแข็งเกินไป ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน โดยกล่าวว่าตนคิดว่าองค์กรอิสระนั้นไม่ได้เป็นที่รังเกียจของประชาชน แต่คงเป็นที่ไม่ชอบใจของนักการเมืองบางส่วน เพราะหน้าที่เขาก็ตรวจสอบตามกฎเกณฑ์ที่ฝ่ายนิติบัญญัติได้วางไว้ และก็ไม่ได้มีอำนาจมากไปกว่าในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 แต่ที่มากขึ้นก็คือเรื่องของคุณสมบัติของ ส.ส., ส.ว.และคณะรัฐมนตรี