ทำไม "นักการเมือง"ผวา! "ชูชาติ" แจงรธน.ฉบับ "มีชัย" ปราบโกงเช่นไร ทำไม "นักเลือกตั้ง" ขนหัวลุกกันนัก??

ติดตามข่าวสารที่ www.Tnew.co.th

 

ทำไม "นักการเมือง"ผวา! อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา "ชูชาติ ศรีแสง" แจงรธน.ฉบับ "มีชัย" ที่จะลงประชามติวันอาทิตย์นี้ ปราบโกงเช่นไร ทำไม "นักเลือกตั้ง" ขนหัวลุกกันนัก...นั่นเพราะมีหลายมาตราที่เป็นยาแรง...โปรดอ่านเพื่อทำความเข้าใจ...จะได้รู้เท่าทันพวกปลุกระดม...ต้าน 

 

วันนี้ (5 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "Chuchart Srisaeng" วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการลงประชามติในวันอาทิตย์ที่ 7 ส.ค.นี้ โดยเฉพาะประเด็นบทลงโทษนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชัน ที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า ปราบโกงจริงหรือไม่-อย่างไร แล้วทำไม "นักเลือกตั้ง" บางพวกจึงขนหัวลุกกันนัก...โดยระบุข้อความน่าสนใจว่า

 

.....ผมยังยืนยันความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่จะให้ประชาชนลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ

 

.....นอกจากที่มีบทบัญญัติให้มีการปฏิรูปในเรื่องต่างๆ ตามที่ประชาชนต้องการให้มีการปฏิรูป และการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ ส.ส. ฝ่ายค้าน และ ส.ว ต้องเห็นด้วย ซึ่งไม่เคยมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญใดมาก่อนดังที่ได้นำมาพูดมาครั้งหนึ่งแล้ว

 

.....วันนี้มีเรื่องมาบอกให้ทราบกันเพิ่มเติมอีกคือ

 

.....ตามมาตรา 219 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งหมดร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นเพื่อยึดถือปฏิบัติและเมื่อประกาศใช้บังคับแล้ว ให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วย

 

.....ถ้ามีกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย

 

.....บทบัญญัติในมาตรา 235 ที่กำหนดให้ศาลฎีกาซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับกรณีประพฤติผิดจริธรรมและกรณีทุจริตการเลือกตั้ง และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษากรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองร่ำรวยผิดปกติทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย นั้น

 

.....มาตรา 235 วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า บัญญัติให้ลงโทษรุนแรงมากกว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

 

 

 

 

 

.....เมื่อศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ในกรณีที่ศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ หรือกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา แล้วแต่กรณี ให้ผู้ต้องคำพิพากษาน้ัน พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น และจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้

 

.....ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกต้ังไม่ว่าในกรณีใด ผู้นั้น*ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ*

 

.....ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหามีความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติหรือทุจริตต่อหน้าที่ *ให้ริบทรัพย์สินที่ผู้นั้นได้มาจาก การกระทำความผิด รวมทั้งบรรดาทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาแทนทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน*

 

.....ตามวรรคสี่นั้นห้ามมิให้เข้ามาสู่วงการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติตลอดชีวิต รวมทั้งอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งคือไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้งผู้อื่นเท่ากับห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลยด้วย

 

.....ตามวรรคห้าให้ริบทรัพย์สินรวมทั้งประโยชน์อื่นใดที่ได้มาแทนทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน เช่น ปฏิบัติหน้าโดยทุจริตได้เงินมาก้อนหนึ่ง นอกจากริบทรัพย์สินที่ได้มาและยังเหลืออยู่ แม้เอาเงินก้อนนั้นหรือทรัพย์สินนั้นไปลงทุนทำธุรกิจหรือซื้อทรัพย์สินใดๆ ก็ให้ริบได้ด้วยทั้งหมด

 

.....นอกจากนี้เรื่องเอกสิทธิ์ของ ส.ส. และ ส.ว. ที่ถูกดำเนินคดีอาญา รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และฉบับอื่นๆ บัญญัติไว้ห้ามมิศาลพิจารณาคดีในระหว่างสมัยประชุมของสภา อันเป็นผลให้ ส.ส. และ ส.ว. ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาใช้เอกสิทธิ์นี้ประวิงการพิจารณาคดีของศาลให้ล่าช้าเพื่อถ่วงเวลาที่ตนเองอาจถูกศาลลงโทษไปเรื่อยๆ แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตามมาตรา 125 ตัดเอกสิทธิ์ของ ส.ส. และ ส.ว.ในเรื่องนี้ออก หมายความว่าให้ศาลพิจารณาคดีไปได้ตามปกติ เพียงไม่ให้เป็นการขัดขวางการประชุมสภาเท่านั้น

 

.....ขอแถมอีกเรื่องหนึ่งที่เกรงกันว่า ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามผู้ที่ถูกถอดถอนจากตำแหน่ง เช่น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สมัคร ส.ส. นั้น มาตรา 98 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ห้าม !

 

.....มาตรา 98 บัญญัติว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 

........(17) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

.....สรุปเรื่องที่นำมากล่าวในวันนี้ทั้งหมดผู้ได้รับผลกระทบในทางที่เป็นผลร้ายคือบรรดานักการเมืองทั้งหลาย ส่วนประชาชนชาวไทยไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แต่ได้ประโยชน์มากกว่า

 

.......ผมในฐานะประชาชนคนหนึ่ง จึงต้องลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงครับ !!!

 

 

 

 

 

 

ภาพ : Bluesky.tv ทำไม "นักการเมือง"ผวา! "ชูชาติ" แจงรธน.ฉบับ "มีชัย" ปราบโกงเช่นไร ทำไม "นักเลือกตั้ง" ขนหัวลุกกันนัก??