ผิดแน่ๆ !! "สมชัย" ชี้ นศ.ฉีกบัตรเลียนแบบอ.จุฬาฯ ทั้งๆที่ศาลฎีกาตัดสินแบบนี้ไปไปแล้ว

ติดตามข่าวเพิ่มได้ที่ www.tnews.co.th

กกต. แจงพบผู้ใช้สิทธิ์ฉีกบัตรลงประชามติแล้ว 14 จว. รวม 21 หน่วย เผยส่วนใหญ่เกิดจากความเข้าใจผิด ขณะที่ "สมชัย" ชี้ นศ.ฉีกบัตรแสดงเจตนาทางการเมืองเลียนแบบอาจารย์จุฬา ซึ่งศาลฎีกาตัดสินตัดสิทธิ์ลต. 5 ปี ปรับ 2 พัน จำคุก 1 ปี
         

วันนี้ ( 7 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการกกต. แถลงความคืบหน้าการทำประชามติ ว่า ขณะนี้ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ผอ.กต.จว.) ว่า มีเหตุการณ์การฉีกบัตรลงประชามติแล้ว จำนวน  21 หน่วย  ใน 14 จังหวัด  ประกอบไปด้วย กรุงเทพมหานคร หน่วยที่ 47 ประชาอุทิศทุ่งครุ หน่วยที่ 101 ร.ร.ศรีเอี่ยมอนุสรณ์ บางนา และหน่วยที่ 19 เขตวังทองหลาง, จ.นครปฐม หน่วยที่ 4 ต.สามพราน หน่วยที่ 7ต.บางเลน หน่วยที่ 3 ต.พระประโทน,จ.ฉะเชิงเทรา หน่วยที่ 23 เทศบาลเมือง และหน่วยที่ 1 ต.บางซ่อน, จ.สมุทรสาคร หน่วยที่ 5 ต.บ้านบ่อ, จ.พะเยา หมู่ 13 ต.ท่าวังทอง


จ.ปทุมธานี หน่วยที่ 6 ต.สวนพริกไทย, จ.ชลบุรี หน่วยที่ 40 ต.ชากคร้อ, จ.สุรินทร์ หมู่ 12 ต.ยาง และหมู่ 7 ต.สลักได, จ.นครสวรรค์ หน่วยที่ 9 และหน่วยที่ 84, จ.กาญจนบุรี หน่วยที่ 8 ม.7 ต.เกาะสำโรง, จ.อุบลราชธานี หมู่ 7 ต.สมสะอาด, จ.บุรีรัมย์ หมู่ 11 ต.สะเดา, จ.เชียงราย หน่วยที่ 2 บ้านเทิดไทย และจ.ยโสธร หน่วยที่ 3 ต.ค้อเหนือ ส่วนใหญ่เป็นการฉีกออกเป็นสองส่วนเนื่องจากเห็นว่าบัตรมีสีที่แตกต่างกันตรงกลางมีรอยปรุ รอยพับ ซึ่งอาจเป็นการเข้าใจผิด ตามมาตรา 59 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ฉีกบัตรจะตั้งใจหรือไม่นั้นก็จะต้องถูกดำเนินคดี อยู่ที่ดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน
         

" ที่ผ่านมา กกต.ประชาสัมพันธ์ตลอดว่ามีบัตรใบเดียว สองประเด็น และไม่ให้ฉีกบัตร รวมทั้งการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมาก็ไม่เคยให้ฉีกบัตรเป็นสองส่วน แต่เมื่อบัตรถูกฉีกแล้วถือว่าเป็นบัตรเสีย และผู้ที่ฉีกบัตรก็ไม่สามารถรับบัตรเพื่อไปใช้สิทธิใหม่ได้ เพราะถือว่าใช้สิทธิไปแล้ว " รักษาการเลขากกต.กล่าว
         
ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการกกต.กล่าวว่า ขณะนี้พบการฉีกบัตรที่แสดงเจตนาทางการเมือง โดยเป็นการกระทำของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ในหน่วยออกเสียง เขตบางนา กรุงเทพฯ  การแสดงออกดังกล่าวอาจเข้าใจว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่สามารถไปสู้ในรูปคดีเพื่อให้หลุดพ้นจากการลงโทษได้  หรืออาจเป็นการเลียนแบบกรณีที่อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งเคยฉีกบัตรเลือกตั้ง ที่ถูกดำเนินคดีแล้วเข้าใจว่าศาลชั้นต้นยกฟ้อง  แต่ข้อเท็จจริงการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดที่ศาลได้ลงโทษเป็นตัวอย่างแล้ว  แม้ศาลชั้นต้นจะยกฟ้องแต่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2555 ว่าเป็นความผิดลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท รอลงอาญา 1 ปี เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี  และศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อ 3 มิถุนายน 2557 ยืนตามศาลอุทธารณ์ ซึ่งแปลว่า ณ วันนี้อาจารย์ที่ฉีกบัตรดังกล่าวไม่สามารถไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติได้  เนื่องจากอยู่ระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง