"เจ้าหญิงนักกฎหมายแห่งภูฏาน"เจ้าหญิงโซนัมฯพระกนิษฐาในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีฯ ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงศึกษาวิชากฎหมายนำมาพัฒนาประเทศของพระองค์

ติดตามรายละเอียด http://deeps.tnews.co.th/

เมื่อครั้ง "เจ้าหญิงภูฏาน"ทรงชื่นชมงานกฎหมายไทย กระบวนการยุติธรรมเชื่อมสัมพันธ์ 2 ประเทศด้วยพระวิริยะอุตสาหะและพระปรีชาสามารถ ไม่ว่าจะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือด้านกฎหมาย ด้วย เจ้าหญิงโซนัม เดเชน วังชุก พระกนิษฐาใน สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ทรงสำเร็จปริญญาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และทรงสำเร็จปริญญาโทด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อนจะทรงตำแหน่งประธานสถาบันกฎหมายแห่งราชอาณาจักรภูฏาน ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้เนติบัณฑิตยสภาทูลเกล้าฯ ถวายฐานะสมาชิกกิตติมศักดิ์แห่งเนติบัณฑิตยสภาด้วยมติเป็นเอกฉันท์
 

การนี้ เจ้าหญิงโซนัม เดเชน วังชุก จึงได้เสด็จมาเยี่ยมเนติบัณฑิตยสภา ณ อาคารเนติบัณฑิตยสภา เสด็จทอดพระเนตรกิจการต่างๆ ของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา อาทิ นิทรรศการพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงประวัติครุยประเภทต่างๆ ทอดพระเนตรห้องสมุด รวมถึงการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ และยังได้มีพระปาฐกถาพิเศษในโอกาสเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ด้วย
 

สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาเผยว่า การถวายตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์นี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ถวายให้กับพระราชวงศ์ที่เป็นชาวต่างชาติ ที่ผ่านมาเนติบัณฑิตยสภาได้ถวายสมาชิกกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 2495 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในปี 2507 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในปี 2530 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี 2525 ซึ่งเป็นเวลากว่า 27 ปีแล้วที่ไม่ได้ถวายแด่ผู้ใด


"นอกจากเสด็จมาเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ แล้ว เจ้าหญิงโซนัม เดเชน วังชุก ยังได้ทรงมีพระปาฐกถาพิเศษ โดยทรงเน้นย้ำว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการปกครองประเทศ และหลักนิติธรรมก็มีความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย โดยปัจจุบันกฎหมายมีความสำคัญ เพราะได้เข้าไปในเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ทั้งสิ่งแวดล้อม และความรุนแรง กฎหมายที่ดี รวมถึงการผลิตนักกฎหมายที่ดี จึงมีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาประเทศ"

สราวุธยังเผยอีกว่า การนี้เจ้าหญิงโซนัม เดเชน วังชุก ยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศในด้านกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายและสถาบันกฎหมายต่างๆ ซึ่งแม้ประเทศภูฏานจะมีประชากรไม่มาก แต่เรื่องกฎหมายก็มีความสำคัญเช่นกัน เมื่อเปลี่ยนรูปแบบการปกครองก็ต้องมีการจัดระบบต่างๆ มากขึ้น ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีประสบการณ์ด้านกฎหมายมาอย่างยาวนานน่าจะนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งจะเป็นการดีที่จะได้แลกเปลี่ยนความรู้และเจ้าหน้าที่ระหว่างกันได้

 

สำหรับการเสด็จเยือนประเทศไทยของเจ้าหญิงโซนัม เดเชน วังชุก เป็นไปตามคำกราบทูลเชิญเสด็จของศาลยุติธรรม เพื่อถวายเข็มวิทยฐานะ และทูลเชิญเป็นพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานศาลยุติธรรมกับราชอาณาจักรภูฏาน เนื่องจากประเทศไทยกับราชอาณาจักรภูฏานมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นนี้แผ่กระจายไปในหลายๆ ภาคส่วน รวมถึงความสัมพันธ์ทางการศาลและกระบวนการยุติธรรมด้วย เป็นความสัมพันธ์อันดีของสองแผ่นดิน

 

"เจ้าหญิงนักกฎหมายแห่งภูฏาน"เจ้าหญิงโซนัมฯพระกนิษฐาในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีฯ ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงศึกษาวิชากฎหมายนำมาพัฒนาประเทศของพระองค์

"เจ้าหญิงนักกฎหมายแห่งภูฏาน"เจ้าหญิงโซนัมฯพระกนิษฐาในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีฯ ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงศึกษาวิชากฎหมายนำมาพัฒนาประเทศของพระองค์

"เจ้าหญิงนักกฎหมายแห่งภูฏาน"เจ้าหญิงโซนัมฯพระกนิษฐาในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีฯ ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงศึกษาวิชากฎหมายนำมาพัฒนาประเทศของพระองค์