ใหญ่มาจากไหนก็จับ...!!!คสช.เอาจริงปราบผู้มีอิทธิพล เริ่มต้นจากคดีทำร้ายลูกนายพล. (รายละเอียด)

ติดตามข่าวสาร www.tnews.co.th

ถือเป็นข่าวสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับสังคมไทยไม่น้อย  สำหรับเหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย นายอิศราชนุวัฒภ์ วรรคาวิสันต์ หรือเจมส์บอนด์ บุตรชาย พล.ต.วิทยา วรรคาวิสันต์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 38 จ.น่าน  จนผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องออกมาส่งสัญญาณให้มีการเร่งดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพลในพื้นที่อย่างจริงจัง

 

ทั้งนี้สำหรับแนวนโยบายการปราบปรามผู้มีอิทธิพล   โดยข้อเท็จจริงแล้วรัฐบาลคสช.ถือเป็นนโยบายที่มีการเน้นย้ำกับผู้รับผิดชอบมาโดยตลอด    แต่ประเด็นปัญหาก็คือผู้ปฏิบัติส่วนหนึ่งเองก็เคยชินกับการพึ่งพาอาศัยกลุ่มมาเฟียหรือผู้อิทธิพลเหล่านั้น  จึงยังคงเกิดเหตุการณ์ในลักษณะที่เกิดขึ้นกับสถานบันเทิงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

เช่นการให้สัมภาษณ์ของของพล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2558   โดระบุชัดเจนถึงขนาดว่ามีรายชื่อผู้มีอิทธิพลในแต่ละท้องถิ่นแล้ว จากหน่วยงานความมั่นคง  ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ทหาร  และผู้ว่าราชการจังหวัด  ตามกรอบกลุ่มผู้มีอิทธิพลทั้ง 16  กลุ่มส่งมาแล้ว   และจะมีการนำมาคัดกรองและดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย ตามโยบายเร่งด้วยของรัฐบาลและคสช. ในการปราบปรามผู้มีอิทธิพลให้หมดสิ้นจากสังคมไทย  โดยไม่เว้นว่าจะเป็นบุคคลในเครื่องแบบหรือไม่อย่างไร

 

ขณะที่จากการสำรวจตรวจสอบพบว่ากลุ่มอิทธิพลในความหมายของพล.อ.ประวิตรประกอบด้วยกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมดังนี้

 

1. นายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ

2. ฮั้วประมูลงานราชการ

3. หักหัวคิวรถรับจ้าง   

4. ขูดรีดผู้ประกอบการ

5. ลักลอบขนสินค้าหนีภาษี

6. เปิดบ่อนการพนัน

7. ลักลอบค้าประเวณี

8. ลักลอบนำคนเข้า-ออกประเทศโดยผิดกฎหมาย

9. ล่อลวงแรงงานไปยังต่างประเทศ

10. แก๊งต้มตุ๋นนักท่องเที่ยว

11. มือปืนรับจ้าง

12. รับจ้างทวงหนี้ด้วยการข่มขู่ใช้กำลัง

13. ลักลอบค้าอาวุธสงคราม/ปืนเถื่อน

14. บุกรุกที่ดินสาธารณะ/ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

15. เรียกรับผลประโยชน์บนเส้นทางหลวงสาธารณะ

16. ผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

 

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ออกมาเป็นระยะ ๆ แต่ในแง่ของรูปธรรมก็ยังมีข้อคำถามว่าได้ผลจริงจังมากน้อยแค่ไหน  เพราะมีการกำหนดกรอบเวลาภายใน 6 เดือนต้องชัดเจนในผลการปฏิบัติงาน    จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายบุตรชาย พล.ต.วิทยา   ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 38 จ.น่าน ประเด็นนี้จึงถูกหยิบยกมาสอบถามอีกครั้ง

 

สิ่งสำคัญที่สุดในช่วงเริ่มต้นการประกาศนโยบาย  ทางด้าน  พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจ   ถึงกับเรียกกำชัยทุกหน่วยกำลังพลให้ปฏิบัติงานการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ตามคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เลขที่ 324/2558  ลงวันที่   29 ตุลาคม 2558  ด้วยความเข้มข้น  เพราะเป็นนโยบายของภาครัฐเพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตปกติสุข  ไม่มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลเข้ามาข่มเหงรังแก   รวมถึงจับกุมตามหมายจับเก่าทั้งหลายใน 16  ฐานความผิด 

 

พร้อมระบุว่าจะเริ่มปฏิบัติการตามแผนดังกล่าวในวันที่   5  มีนาคม 2559   ที่ผ่านมา   พร้อมกันทั้ง  77 จังหวัดทั่วประเทศ   โดยขณะนี้มีรายชื่อผู้มีอิทธิพลประมาณ  6,000 ราย    ทั้งบุคคลทั่วไป  ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น และข้าราชการทหาร ตำรวจตาม  16 มูลฐานความผิดซึ่งต้องดำเนินการกวาดล้างให้หมดสิ้น        

 

แต่ถึงที่สุดสถานบันเทิงผิดกฎหมายที่อยู่ภายใต้กลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เชียงใหม่ก็ทำให้เห็นได้ประการหนึ่งว่าแนวนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์  ในการเร่งรัดปราบปรามผู้มีอิทธิพลยังไปไม่ถึงเป้าหมายครบถ้วน

ขณะที่ข้อมูลจากเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ผู้จัดทำเว็บไซต์ www.tpd.in.th  ระบุว่า จากการสำรวจพฤติกรรมของนักการเมืองระดับชาติ ในพื้นที่ 18 จังหวัดในประเทศไทย พบว่ามีนักการเมืองที่ทุจริตเชิงนโยบาย 44.26% พบมากสุดในพื้นที่ภาคอีสาน 58.06% ตามด้วยภาคเหนือ 52.94%

            

ส่วนนักการเมืองที่ซื้อ-ขายตำแหน่งในราชการ 22.95% พบมากที่สุดในภาคอีสาน 38.711% ตามด้วยกรุงเทพมหานคร 28.26% นักการเมืองที่จริยธรรมเสื่อม 15.57% พบมากสุดในกรุงเทพมหานคร 32.57%

     

ส่วนนักการเมืองที่เป็นเจ้าของหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับบ่อนการพนัน 14.75% พบมากสุดในภาคตะวันตก 25.00% ตามด้วย กรุงเทพมหานคร 17.39% และภาคอีสาน 16.13%  ขณะที่นักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับหวยเถื่อน 10.66% มากที่สุดในกรุงเทพมหานคร 23.91%

     

นอกจากนั้นนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด 5.74% พบมากสุดในภาคใต้ 12.5% นักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้าของเถื่อน 4.95% พบมากที่สุดในภาคใต้ 18.75% นักการเมืองที่บุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ 2.46% พบมากในภาคอีสานและกรุงเทพมหานคร

     

สำหรับนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเงินกู้นอกระบบ  2.46%   มากสุดในกรุงเทพมหานคร นอกจากนั้นยังพบว่าในพื้นที่ 18 จังหวัดดังกล่าวนั้นมีนักการเมืองที่มีพฤติกรรมสีเทาถึง 30 คน

 

ประเด็นสำคัญคือกรณีรายชื่อผู้มีอิทธิพลในแต่ละท้องถิ่นซึ่งอยู่ในมือของผู้รับชอบกว่า 6  พันรายมีการดำเนินการไปถึงระดับใดแล้วกันแน่  และคงไม่ใช่เฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ทุกฝ่ายกำลังเร่งรัดดำเนินการในขณะนี้