"มาร์ค" ลุยยื่นผู้ตรวจฯ ทุบคำสั่ง คสช.53/60 ยันชัดขัด รธน.4 มาตรา แถมเพิ่มภาระให้ ปชช. อย่างมาก

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

 

"มาร์ค" ยื่นผู้ตรวจฯ ยันคำสั่ง คสช.53/60 ขัด รธน.4 มาตรา ยันเพิ่มภาระให้ประชาชนอย่างมาก ระบุไม่คิดจะสร้างปัญหา แต่เห็นว่ามีประเด็นที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน, สวนทางการปฏิรูปการเมือง ด้านผู้ตรวจการ ยันเป็นองค์กรอิสระ ไม่รับใบสั่งใคร

 

วันนี้ (23 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค, นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้พิจารณาประเด็นคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ซึ่งแก้ไข พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 นั้นขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ​มาตรา 26,มาตรา 27,มาตรา 45, มาตรา77 และ หมวดปฏิรูปด้านการเมือง หรือไม่

 

โดยนายอภิสิทธิ์ ให้เหตุผลว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.​ที่ 53 นั้นสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน กรณีให้ผู้ที่จะยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคต้องแสดงหลักฐานการมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด ซึ่งหากแปลความจะทำให้ประชาชนที่ต้องการยืนยันต้องไปขอใบรับรองจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งสิ้น 19 หน่วยงาน ขณะที่การยืนยันดังกล่าวผู้ที่ประสงค์จะยื่นเอกสารให้ยื่นต่อหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของหัวหน้าพรรคที่ต้องตรวจสอบรายละเอียด ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิก จำนวน 2.5 ล้านคน หากการยืนยันทั้งหมดต้องมีเอกสารให้พิจารณา หัวหน้าพรรคต้องตรวจสอบทั้ง 2.5 ล้านคนภายในเวลาจำกัด คือ 30 วันเท่านั้น

 

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย้ำว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53 ยังสร้างความไม่เป็นธรรมระหว่างพรรคการเมืองเก่าและพรรคที่เตรียมจัดตั้งใหม่ โดยกรณีที่กำหนดให้พรรคการเมืองที่เตรียมจดจัดตั้งสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ที่สามารถหาสมาชิกพรรคได้ และสามารถโน้มน้าวให้ผู้ที่สังกัดเป็นสมาชิกพรรคหนึ่งลาออกแล้วไปสังกัดพรรคใหม่นั้นได้ ขณะที่พรรคเก่ากำหนดให้เพียงแค่ยืนยันความเป็นสมาชิก ไม่สามารถหาสมาชิกใหม่ได้ อีกทั้งจะเริ่มดำเนินการ ในวันที่ 1 เมษายน และ คำสั่งยังสร้างภาระเกินจำเป็นให้กับประชาชน โดยเฉพาะการยืนยัน ทั้งที่กระบวนการดังกล่าวสมัยปัจจุบันสามารถดำเนินการผ่านระบบอิเล็คทรอนิกส์ได้

 

นายอภิสิทธิ์ ยังระบุด้วยว่า จากเนื้อหาของคำสั่ง คสช. ที่ 53 เห็นว่ามีเนื้อหาที่ขัดกับเจตนารมณ์และมาตราของรัฐธรรมนูญ ได้แก่ มาตรา 26 ประเด็นการตรากฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล และไม่เป็นตามกระบวนการตรากฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในส่วนของบทเฉพาะกาล เพราะการออกคำสั่งที่เป็นการแก้ไข พ.ร.ป. นั้นมีขั้นตอนที่ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็น ตามมาตรา 77 และความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญด้วย, มาตรา 27 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ต้องได้รับความคุ้มครอง และไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งการเขียนเนื้อหาให้มีข้อแตกต่างกันระหว่างพรรคใหม่กับพรรคเก่า ถือว่าเป็นประเด็นที่แสดงให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติในเชิงการเมือง

 

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ดังกล่าว อาจขัดกับมาตรา 45 สอดคล้องกับหมวดการปฏิรูปด้านการเมือง ว่าด้วยเสรีภาพของบุคคลที่จะจัดตั้งพรรคการเมือง ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมกับพรรคอย่างกว้างขวางทั้งการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรรับเลือกตั้ง ทั้งนี้ในคำปรารภของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ระบุเพื่อแก้ไขปัญหาความซ้ำซ้อน และต้องการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมกับพรรคอย่างกว้างขวาง แต่เนื้อหานั้นพบว่ามีความขัดกับอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะประเด็นที่ไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองได้จัดประชุมเพื่อกำหนดนโยบายหรือประกาศอุดมการณ์ของพรรค

 

"ผมไม่มีเจตนาที่จะสร้างปัญหาให้กับผู้ออกคำสั่งดังกล่าว แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 นั้นมีประเด็นที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน, สวนทางการปฏิรูปการเมือง, การตราคำสั่งไม่เป็นไปตามกระบวนการตรากฎหมายในรัฐธรรมนูญและไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม แม้หลายคนบอกว่า การใช้ มาตรา 44 เพื่อออกคำสั่งหัวหน้าคสช.จะทำได้ แต่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 265 ไม่ได้รับรองการบังคับใช้ซึ่งเป็นที่สิ้นสุด ดังนั้นผมมองว่าการออกคำสั่งดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามกรอบและเงื่อนไขที่จะใช้บังคับได้ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูป, ความมั่นคง และปรองดอง สมานฉันท์ ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งรัดพิจารณาก่อนวันที่ 1 มีนาคมนี้ ที่คำสั่งจะมีผลบังคับใช้เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว


อย่างไรก็ดี ด้านนายรักษเกชา  แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวขณะรับเรื่องว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาโดยรวมเข้ากับคำร้องที่พรรคเพื่อไทยส่งมาให้ก่อนหน้านี้ โดยประเด็นสำคัญจะพิจารณาในรายละเอียด เหตุผล หากจำเป็นที่ต้องเชิญผู้ออกคำสั่ง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงจะเร่งดำเนินการ นอกจากนั้นแล้วตนยืนยันในความเป็นอิสระขององค์กร ที่จะพิจารณาคำร้อง บนหลักเหตุผลและข้อเท็จจริง โดยไม่ตกอยู่ภายใต้ความกดดันหรือการแทรกแซงจากบุคคลภายนอก ซึ่งการทำงานจะเร่งทำให้เกิดข้อยุติโดยเร็ว และหากมีประเด็นที่สามารถส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญจะเร่งดำเนินการส่งต่อ รวมถึงหากพิจารณาแล้วเสร็จไม่มีประเด็นใดตามคำร้องหากจะยุติเรื่องจะแจ้งไปยังผู้ร้องโดยเร็วเช่นกัน