ย้อนอดีตที่มาวัดดอน ยานนาวา วัดของชาวทวาย ก่อนจะมาเป็นป่าช้าหลอน ต้นกำเนิดพระกริ่งฟ้าผ่า พระครูกึ๋น

ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ http://panyayan.tnews.co.th/

ประวัติ วัดบรมสถลหรือวัดดอนยานนาวา

  ย้อนอดีตที่มาวัดดอน ยานนาวา วัดของชาวทวาย ก่อนจะมาเป็นป่าช้าหลอน ต้นกำเนิดพระกริ่งฟ้าผ่า พระครูกึ๋น

(อุโบสถวัดดอน)

“วัดดอน” เป็นวัดโบราณสร้างมานาน ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่หนึ่งกรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดินพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปรากฏความตามหลักฐานดั้งเดิมว่า “มังจันจ่าพระยาทวาย” เป็นผู้มีศรัทธาสร้างขึ้น ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวทวายในสมัยนั้น

                ส่วนที่มาของวัดนั้น มีอยู่ว่า...

 

วัดที่มังจันจ่าพระยาทวายสร้างขึ้นนี้ โดยเหตุที่เป็นวัดสร้างขึ้นบนภูมิภาคอันเป็นที่ดอน รอบบริเวณเป็นที่ลุ่มราบ ดังนั้นจึงปรากฏนามว่า "วัดดอน" และโดยที่วัดนี้ถูกสร้างขึ้นด้วยศรัทธาของ พระยาทวาย พร้อมกับญาติมิตรสหายชาวทวายทั้งปวง ณ สถานที่หลวงพระราชทานหลังบ้านทวาย ดังนั้นผู้คนทั้งหลายจึงนิยมเรียกกันง่ายๆว่า วัดดอนทวาย จะอย่างไรก็ดีพอตกมาถึงปีพุทธศักราช ๒๔๐๐ ครั้งรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ผู้ทรงเป็นมหาปราชญ์ในเชิงอักษรศาสตรภาษา ได้ทรงพระกรุณาเปลี่ยนนามวัดที่พระยาทวายสร้างขึ้นนี้ว่า “วัดบรมสถล” แต่มหาชนก็ยังนิยมเรียกว่า วัดดอนทวาย อยู่อีกตามเดิมด้วยความเคยชิน

วัดดอนหรือวัดที่ทรงพระกรุณาเปลี่ยนนามให้ใหม่ว่าวัดบรมสถลนี้ มีบริเวณแผ่ตลอดไปตามภูมิภาคที่ดอน มีจำนวนเนื้อที่ 17 ไร่ 2 งาน 28 วา โดยมีคูเป็นเขตวัดล้อมรอบทุกด้าน กล่าวคือ คูด้านเหนือและด้านตะวันออกเป็นเครื่องปันเขตวัดดอนกับป่าช้าจีน ส่วนคูด้านใต้และด้านตะวันตกเป็นเครื่องปันเขตวัดดอนกับชาวบ้าน

 

วัดดอนนี้ เดิมทีมีแต่พระสงฆ์ชาวทวายจำพรรษาอยู่เป็นส่วนมาก โดยมีพระสงฆ์อาวุโสทำหน้าปกครองดูแลสืบต่อกันมา จนถึงสมัยพระอุปัชฌาย์จั่น รูปนี้ก็เป็นชาวทวายอีกเหมือนกัน ทำหน้าที่ปกครองวัดเป็นสมภารมานานช้า บรรดาศิษย์และชาวบ้านเรียกท่านว่าท่านใหญ่ เป็นพระอุปัชฌาย์ให้การอุปสมบทกุลบุตรทั้งชาวทวายและชาวไทย มีผู้เคารพเลื่อมใสมาก ถึงมรณภาพเมื่อปีพุทธศักราช 2462

  ย้อนอดีตที่มาวัดดอน ยานนาวา วัดของชาวทวาย ก่อนจะมาเป็นป่าช้าหลอน ต้นกำเนิดพระกริ่งฟ้าผ่า พระครูกึ๋น

(เจดีย์ของชาวทวาย)

ครั้นพระอุปัชฌาย์จั่นหรือท่านใหญ่ถึงมรณภาพล่วงลับไป พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมภารเจ้าวัดสืบมา พระครูกัลยาณวิสุทธิ์หรือหลวงพ่อกึ๋นนี้ ก็มีชาติกำเนิดสืบเชื้อสายมาแต่ชาวทวาย เกิดที่บ้านทวาย เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เป็นสมภารเจ้าวัดดอนมาหลายสิบปี มีเกียรติคุณในทางสมาธิ ภาวนาและขลังในคาถาอาคม โดยได้เล่าเรียนสืบต่อมาจากพระอุปัชฌาย์ โดยได้เล่าเรียนสืบต่อมาจากพระอุปัชฌาย์จั่นท่านใหญ่ และอาจารย์เปี่ยมซึ่งเป็นอาจารย์วิชาอาคมขลังเรืองนาม เป็นที่เคารพนับถือของคนในสมัยนั้น จึงทำให้ท่านฝักใฝ่อยู่แต่ในทางนี้ จนมีชื่อว่าเป็นเกจิอาจารย์รูปหนึ่งในบรรดาเกจิอาจารย์ผู้มีวิชาอาคมขลังทั้งหลาย

 

อนุสรณ์ยิ่งใหญ่ที่ท่านพระครูกัลยาณวิสุทธิ์สร้างไว้ ในฐานะที่เป็นเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยามนต์อันสูงยิ่ง ก็คือพระกริ่งฟ้าผ่า สาเหตุที่พระกริ่งของท่านจะได้ชื่อว่า “พระกริ่งฟ้าผ่า” นั้น เล่ากันว่าเมื่อปีพุทธศักราช 2480 สมัยที่ยังเป็นพระครูกึ๋น ผู้มีวัยสี่สิบเศษ ปรารภเหตุไทยจะเข้าทำสงครามอินโดจีน

ย้อนอดีตที่มาวัดดอน ยานนาวา วัดของชาวทวาย ก่อนจะมาเป็นป่าช้าหลอน ต้นกำเนิดพระกริ่งฟ้าผ่า พระครูกึ๋น

(พระกริ่งฟ้าผ่า รูปภาพจากพระเครื่องตั้ม ศรีวิชัย)

ในฐานะทีท่านเคยเป็นทหารมาก่อน จึงมีความปรารถนาอย่างแรงร้อนที่จะช่วยประเทศชาติตามวิสัยสมณะจะพึงกระทำได้ จึงคิดสร้างพระกริ่งนิรันตราย เพื่อแจกจ่ายแก่บรรดาศิษย์ลูกบ้านทวายที่ลาไปทัพกับทหารไทยทั่วไป ในการสร้างพระกริ่งครั้งนี้ได้จัดเป็นพิธีใหญ่ โดยตัวท่านเองไปทูลอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช(แพ ติสสเทวมหาเถร) วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นที่เคารพอย่างสูงสุดให้มาทรงเป็นองค์ประธานจุดเทียนชัย และกำกับการบวงสรวงอันเชิญปวงเทพเจ้ามาเข้าร่วมพิธีศักดิ์ศิษย์นั้น พลันอสุนีบาตจากฟากฟ้าก็ฟาดตกลงมาในท่ามกลางพิธี ให้เป็นที่อัศจรรย์หวั่นไหวโกลาหล ผู้คนทั้งหลายต่างตื่นตะลึงวุ่นวายประหลาดใจเป็นหนักหนา จึงพากันเรียกชื่อพระกริ่งที่สร้างครั้งนี้ว่า “พระกริ่งฟ้าผ่า”

 

พระครูกัลยาณวิสุทธิ์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์และเกจิอาจารย์ชื่อก้อง ครองวัดดอนมาจนถึงอายุขัยมรณภาพล่วงลับไป เมื่อปีพุทธศักราช 2507