"หมอธีระ"เปิดข้อมูล มันดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่มากกว่าเดลต้าถึง 20-40 เท่า

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ สรุป โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ระบุข้อความว่า

28 มกราคม 2565

ทะลุ 366 ล้านไปแล้ว

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 3,263,131 คน ตายเพิ่ม 9,319 คน รวมแล้วติดไปรวม 366,345,507 คน เสียชีวิตรวม 5,655,204 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อเมริกา อินเดีย บราซิล และเยอรมัน

"หมอธีระ"เปิดข้อมูล มันดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่มากกว่าเดลต้าถึง 20-40 เท่า

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.56 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 80.36

ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 51.96 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 34.59

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...อัพเดต Omicron "โอมิครอน" สายพันธุ์ BA.2

รายงานล่าสุด 27 มกราคม 2565 จาก UK HSA COVID-19 Vaccine Surveillance Report ของสหราชอาณาจักรมีข้อมูลน่าสนใจ

ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นยังได้ผลต่อสายพันธุ์ BA.2 (70%) เฉกเช่นเดียวกับ BA.1 (63%)

ทั้งนี้ดูเหมือนว่า BA.2 อาจมีแนวโน้มดื้อต่อภูมิคุ้มกันน้อยกว่าหรือพอๆ กับ BA.1 อย่างไรก็ตามคงต้องมีการวิจัยพิสูจน์กันต่อไป ซึ่งหากเป็นตามข้อสังเกตดังกล่าว การที่ BA.2 แพร่ระบาดเร็วกว่า BA.1 นั้นอาจมาจากคุณสมบัติของตัวไวรัสเอง ไม่ได้มาจากการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน

ซึ่งแตกต่างจากตอนที่เปรียบเทียบกันระหว่าง BA.1 กับเดลต้า ที่พบว่าการแพร่เร็วของ BA.1 นั้น เหตุผลหลักมาจากการดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่มากกว่าเดลต้าถึง 20-40 เท่า

"หมอธีระ"เปิดข้อมูล มันดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่มากกว่าเดลต้าถึง 20-40 เท่า

...ภาพรวมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีน

โดยรวมแล้วยังสามารถลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงจนต้องนอนรพ. และลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ดีมาก (เกิน 80-90% ขึ้นไป)

แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแล้วป่วยมีอาการ (symptomatic infection) นั้นไม่สูงมากนัก (ราว 50-75%) ซึ่งแปลว่า ฉีดแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อได้ ป่วยได้

นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเน้นย้ำให้พวกเราทุกคนป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด สม่ำเสมอ เป็นกิจวัตร

การใส่หน้ากาก รักษาระยะห่างจากคนอื่น ลดความเสี่ยงด้วยการพบคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มร่วมกัน...

เหล่านี้เป็นวิธีที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลในการลดโอกาสติดเชื้อแพร่เชื้อ และจะช่วยประคับประคองให้ผ่านพ้นวิกฤติการระบาดไปได้

ขอให้ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท

อ้างอิง

COVID-19 Vaccine Surveillance Report. UK HSA. 27 January 2022.