"อ.เจษฎ์"กางภาพชัด คนไทยอดทนโควิด-19 อีกหน่อย เดือน พ.ค. มีอาจได้ฟังข่าวดี

"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความหัวข้อ "อัพเดตสถานการณ์โควิดในไทย 8 เม.ย 65"

"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

"อัพเดตสถานการณ์โควิดในไทย 8 เม.ย 65" .... คราวนี้ ผมใช้การพล็อตกราฟดูแนวโน้มการระบาด ด้วยค่า 7-day rolling average (ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน) ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ด้วย (ดูเส้นสีเหลืองในรูปซ้าย) ทำให้ดูแนวโน้มได้ง่าย ได้ดีกว่าดูกราฟรายวัน ที่มันขึ้นๆลงๆ ตามการนำเข้าข้อมูลรายวันที่มาไม่ค่อยสม่ำเสมอกันในแต่ละวัน

"อ.เจษฎ์"กางภาพชัด คนไทยอดทนโควิด-19 อีกหน่อย เดือน พ.ค. มีอาจได้ฟังข่าวดี

จากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วันของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวัน ซึ่งรวมทั้งค่าจาก PCR และ ATK (เส้นสีเหลืองรูปซ้าย) ก็เป็นการยืนยันว่าเราผ่านจุดพีค (peak) ของการระบาดมาแล้ว

โดยในเดือนมกราคม มีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มขึ้นอยู่ช่วงหนึ่งหลังปีใหม่ จากนั้นกราฟเริ่มพุ่งขึ้นเมื่อเริ่มการระบาดของโอมิครอนตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ แล้วพุ่งชันมากเนื่องจากโอมิครอนที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว จนมีถึงจุดพีดตอนต้นเดือนมีนาคม แล้วค่อยลดลงมา (ซึ่งสอดคล้องกับที่ทำนายไว้ ว่าพีคการระบาดของโอมิครอนทั่วโลก มักจะขึ้นเร็วลงเร็วในช่วงประมาณ 2 เดือน)

ประเด็นที่น่าแปลกใจคือ กราฟที่กำลังลงมานั้น กลับสูงขึ้นอีกในช่วงกลางเดือนมีนาคม ... ซึ่งคำอธิบายหนึ่งที่พอเป็นไปได้คือ การระบาดของโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่เข้ามาแทนที่ ฺBA.1 (โอมิครอนที่ระบาดเข้ามาในช่วงแรก) ตามข่าวที่ออกมาช่วง 14 มี.ค. ว่าพบสายพันธุ์โอมิครอน 99.69 % เหลือเดลตาแค่ 0.31 % โดยสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน พบเป็น BA.1 32.4 % และ BA.2 67.6 % 

ตามข้อมูลที่มีตอนนี้ สายพันธุ์ย่อย BA.2 นั้น ไม่ได้มีความรุนแรงต่อโรคมากกว่า BA.1 แต่มีความสามารถในการแพร่ระบาดมากกว่า และอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้การระบาดไม่ลดลง ตามสูตร "โอมิครอน ระบาด 2 เดือน" ที่คาดไว้ (ในประเทศเพื่อนบ้านเอเชียอื่นๆ เป็นไปตามสูตร "2 เดือน" ทั้งนั้น .. ดูรูปประกอบ)

อย่างไรก็ตาม พอเข้ามาต้นเดือนเมษายนอย่างตอนนี้ กราฟการระบาดก็มีแนวโน้มจะลดลง ซึ่งคงต้องรอดูสัปดาห์หน้าที่จะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ว่าจะผลให้การระบาดสูงขึ้นอีกหรือเปล่า เหมือนตอนช่วงหลังปีใหม่หรือไม่

"อ.เจษฎ์"กางภาพชัด คนไทยอดทนโควิด-19 อีกหน่อย เดือน พ.ค. มีอาจได้ฟังข่าวดี

ส่วนกราฟของค่าอื่นๆ คือ "ผู้ป่วยปอดอักเสบ" "ผู้ป่วยใส่ท่อหายใจ" และ "ผู้เสียชีวิตรายวัน" ยังมีค่าสูงอยู่ แต่ก็ไม่ได้พุ่งสูงชันเหมือนช่วงเดือนแรกๆ ของการระบาดแล้ว (ค่าพวกนี้ จะเป็นผลกระทบในช่วง "14 วันตามมา" จากค่าผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวัน ดังนั้น ถ้าสถานการณ์การระบาดค่อยๆ ลดลงตอนนี้ ค่าพวกนี้ก็จะลดลงในเดือนหน้าครับ)

สรุปว่า ถ้าไม่มีอะไรผิดปรกติไปกว่านี้ (เช่น มีสายพันธุ์ใหม่อันตรายๆ ออกมาอีก) คาดว่าเดือนพฤษภาคมนี้ สถานการณ์คงเข้าสู่ปรกติมากขึ้นครับ

อดทนกันอีกหน่อยนะครับ "ใส่หน้ากาก - เว้นระยะห่าง - ระบายอากาศ - ฉีดวัคซีนกระตุ้น" ยังเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการควบคุมโรคโควิด .. และถ้าเป็นไปได้ สงกรานต์ปีนี้ ลดการไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่นะครับ จะได้ไม่พลาดนำเชื้อโรคไปสู่ท่าน จะอันตรายเปล่าๆ

ปล . ทั้งหมดนี้เป็นการคาดการณ์จากค่าที่รายงานอย่างเป็นทางการของรัฐ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ค่าน่าจะต่ำกว่าค่าจริงประมาณ 2-3 เท่าเนื่องจากยังมีการตรวจน้อยกว่าที่ควร แต่ผมว่ามันก็ยังบอก "แนวโน้ม" การระบาดได้ครับ