กุมารแพทย์ แนะผู้ปกครองหากเด็กตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ต้องทำอย่างไรบ้าง

นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม รพ.มหาราชนครราชสีมา ให้คำแนะนำผู้ปกครอง หากเด็กตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ต้องทำอย่างไรบ้าง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าสายพันธุ์โอไมครอนจะเป็นสายพันธุ์ที่แสดงอาการน้อย มีลักษณะคล้ายไข้หวัด แต่ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว และสิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันคือ ความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดของเด็กที่มีมากขึ้น แต่เนื่องจากเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีหลายคน ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด

 

กุมารแพทย์ แนะผู้ปกครองหากเด็กตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ต้องทำอย่างไรบ้าง

 

ล่าสุดทางด้าน นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้โพสต์เฟซบุ๊กให้คำแนะนำหากมีบุตรหลานติดเชื้อโควิดควรทำอย่างไร โดยระบุว่า "ATK 2 ขีดแล้วอย่างไรต่อไป.... สำหรับเด็กๆ ตอนนี้พูดเรื่องป้องกัน ดูเหมือนจะสายไปแล้วครับ และคาดว่า ประชาชนก็น่าจะรู้อยู่แล้วล่ะครับ แต่แม้พยายามแค่ไหน มันก็ ติดเชื้อได้

ดังนั้น มาพูดกันดีกว่าครับว่า ถ้าติดเชื้อ ATK 2 ขีดแล้วจะทำอย่างไรต่อผมจะขอเน้นเรื่องของเด็ก นะครับ อ้างอิงแนวทางจากราชวิทยาลัยกุมารฯ ก่อน ATK 2 ขีด ศึกษาก่อนเลยครับ


1. สิทธิ์การรักษาของเราอยู่ที่ไหน รพ.อะไร รพ.สต.หรือ อนามัยอะไร ใน ต่างจังหวัด ถ้ากรุงเทพก็จะลำบากหน่อยครับ แต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดก็มีแนวทางการให้บริการแตกต่างกัน ( นี่คือเรื่องปกติแบบไทยๆ) เกิด 2 ขีดขึ้นมาจะได้ไปถูก


2. ยาสามัญที่จำเป็นเมื่อป่วยเช่น ยาลดไข้พาราเซตามอล ยาบรรเทาอาการไอ ละลายเสมหะ น้ำเกลือแร่ ยาแก้อาเจียน เหล่านี้ ซื้อติดบ้านไว้ได้เลย หากป่วยจะได้ไม่ต้องวิ่งหายาครับ


3. เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว... มีได้ก็ดี ราคาไม่สูงมาก ร้านขายยาก็มีขายครับ กดเอาตาม online ต้องระวังไม่ได้มาตรฐานไม่ผ่านอย.เครื่องมือแพทย์


ATK 2 ขีดแล้ว อันนี้พูดแบบประชาชนทั่วไป ไม่อิงนิยามระบาดอะไรเลยนะครับเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ 2ขีด คือ เชื่อได้ว่า น่าจะติดเชื้อแน่ๆ หลายที่ไม่มีการ confirm PCR เว้นแต่จะต้องเข้ารพ. หรือ กรณีอื่นๆ แต่สรุปคือ ติดเชื้อแล้วล่ะ ที่นี้ก็ว่ากันด้วยเรื่องการรักษาตัว ต้องนอนโรงพยาบาลไหม กลุ่มเสี่ยงรุนแรงเช่น ไข้สูง 39 องศาต่อเนื่องเกิน 1วัน ซึม ชัก กินไม่ได้ อาเจียนมาก หอบเหนื่อย เหล่านี้ควรได้รับการตรวจเพื่อพิจารณาว่าเข้าเกณฑ์ต้องนอนรพ.หรือไม่ (ส่วนใหญ่ถ้ามีอาการดังกล่าวก็น่าจะนอนล่ะครับ)

 

กุมารแพทย์ แนะผู้ปกครองหากเด็กตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ต้องทำอย่างไรบ้าง

กลุ่มที่มีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ ต่ำกว่า 39 องศาไม่ต่อเนื่อง เจ็บคอ พอกินได้ หรือไม่มีอาการ สามารถรักษาตามอาการ "อยู่ที่บ้าน" หรือเข้าระบบ Home isolation (ถ้ามีระบบ) ทานยาลดไข้ เช็ดตัว หากมีอาการไข้ต่อเนื่อง เช่น 39 องศาต่อเนื่องเกิน 1 วัน หรือ อาการแย่ลง ซึมลง กินไม่ได้ อ่อนเพลียมาก อันนี้ควรมาตรวจเพิ่มเติมที่รพ. เพื่อประเมินว่าต้องรับการรักษาในรพ.หรือไม่


ต้องกินยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียไหม คำตอบคือ "ไม่จำเป็นสำหรับทุกราย" โดยส่วนใหญ่ หากอาการเล็กน้อย หรือ ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องทานยาต้านไวรัสแต่ ในรายที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงเช่น อายุน้อยกว่า 1 ปีและมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง ได้แก่


1. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง


2. อ้วน


3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง


4. โรคไตวายเรื้อรัง


5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ


6. โรคเบาหวาน


7. กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า


เหล่านี้ แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส นั่นแปลว่า ต้องไปรับการรักษาที่รพ. หรือ สถานบริการก่อน เพื่อตรวจและเข้าถึงยาต้านไวรัส ในรายที่มีการรุนแรงขึ้น ก็จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ เช่นกัน ส่วนใหญ่อาการของโรคเป็นอย่างไร ในเด็กที่อาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ อาการไข้ ดูอ่อนเพลีย หนัก ๆ อยู่ 2-3 วันแรก ถ้ากินได้ ประคองตัวไปได้ หลังจากนั้น ไข้จะลดลง เหลืออาการเจ็บคอ เสียงแหบ ได้นานถึง 7 วัน สู้ๆนะครับ


กักตัวอยู่บ้านกี่วันจึงจะปลอดภัย อย่างน้อย 10 วัน นับตั้งแต่วันที่ ATK 2 ขีด นั่นแหละครับ โอกาสแพร่กระจายเชื้อก็ลดลงไปมาก แต่ยังแนะนำให้ สวมหน้ากากขณะออกไปนอกบ้าน แต่ผมแนะนำที่อย่างน้อย 14วัน อันนี้เชื้อน่าจะน้อยมากๆ (ในกรณีที่ผู้ป่วยนั้นภูมิคุ้มกันปกตินะครับ) และโอกาสแพร่เชื้อน่าจะน้อยมากๆ เช่นกัน ต้องตรวจ ATK ซ้ำไหม ไม่มีคำแนะนำชัดเจนเรื่องนี้ แต่โดยทั่วไป หลัง 7 วัน ATK มักให้ผลเป็นลบ (ขีดเดียว) มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านบอกว่า ถ้า ATK ขีดเดียว ก็น่าจะเชื้อว่า โอกาสแพร่เชื้อต่อน้อยมาก อันนี้ก็แล้วแต่ครับ แต่โดยทั่วไป ถ้ากักตัวรักษา ครบ 14 วัน (ในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันปกติ) ไม่ต้องตรวจอะไรซ้ำแล้วครับ

 

กุมารแพทย์ แนะผู้ปกครองหากเด็กตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ต้องทำอย่างไรบ้าง


MISC จะมาไหมจะดูอย่างไร MISC หรือ การอักเสบในหลายๆระบบของร่างกายตามหลังการติดเชื้อโควิด19 พบได้มากขึ้น แม้จะไม่บ่อย แต่ก็พึงเฝ้าระวังโดยเฉพาะหลังติดเชื้อ ช่วง2-6สัปดาห์ หลังจากนั้นโอกาสพบจะลดลงอาการหลักๆ ก็ไข้สูง อ่อนเพลีย ผื่นตามตัว มือเท้าแดง ซึ่งหากสงสัยควรพบไปพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา


ยังต้องรับวัคซีนป้องกันโควิดไหม อายุ 5 ปีขึ้นไป ยังต้องรับให้ครบ โดยห่างจากการติดเชื้อไปนาน 3 เดือน (นับตั้งแต่วันที่ ATK 2 ขีด) ทั้งหมดคือ "คำแนะนำเบื้องต้น" เมื่อ ATK 2 ขีด หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่ ในสถานการณ์ ที่เด็กป่วยจำนวนมากขณะนี้ แต่ ที่สำคัญมากๆคือ เด็กอายุน้อยมากๆ ยังบอกเราไม่ได้ ยิ่งต้องตามดูอย่างใกล้ชิด ถ้าอาการเปลี่ยนแปลง ดูแย่ลง ซึมลง กินไม่ได้ ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม และได้รับยาต้านไวรัสตามข้อบ่งชี้ครับ ป้องกัน อย่าให้ติดเชื้อ ไว้ก่อนดีที่สุดครับ ข้อมูลดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต หากมีข้อมูลใหม่ ขอให้ทุกท่านปลอดภัยครับ"

 

ขอบคุณ FB : Jiraruj Praise