เผยโฉมนักวิจัยไทย ร่วมค้นพบกาแล็กซีที่ไกลที่สุด ด้วยกล้องเจมส์ เว็บบ์

เผยโฉมนักวิจัยไทยคนเก่ง ร่วมค้นพบกาแล็กซีที่ไกลที่สุด กาแล็กซีที่มีระยะห่างออกไปถึงกว่า 13,500 ล้านปีแสง ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์


  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) เผยโฉม ดร.ณิชา ลีโทชวลิต นักวิจัยไทย มีส่วนร่วมค้นพบหนึ่งในกาแล็กซีที่ไกลที่สุด ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์เว็บบ์ #JWST โดยร่วมกับทีม GLASS (Grism Lens-Amplified Survey from Space) ใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope: JWST) สังเกตแสงอันริบหรี่จากห้วงอวกาศลึก และค้นพบกาแล็กซีที่มีระยะห่างออกไปถึงกว่า 13,500 ล้านปีแสง นับเป็นกาแล็กซีที่ไกลที่สุดกาแล็กซีหนึ่งเท่าที่เคยมีการค้นพบในปัจจุบัน


ทั้งนี้ ดร. ณิชา ลีโทชวลิต จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จากนั้นได้ทุนจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี โท เอก ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ณ University of Chicago และ California Institute of Technology สหรัฐอเมริกา

 โดย ดร. ณิชา ลีโทชวลิต  ได้เปิดใจเล่าถึงการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยนี้ และ มีบทบาทสำคัญอย่างไรในทีม ว่า 

  เผยโฉมนักวิจัยไทย ร่วมค้นพบกาแล็กซีที่ไกลที่สุด ด้วยกล้องเจมส์ เว็บบ์
  ก่อนที่ JWST จะปล่อยออกจากโลก ได้เปิดโอกาสให้นักดาราศาสตร์ที่สนใจเสนอว่าต้องการให้ JWST ศึกษาอะไร  ภายใต้ข้อกำหนด 2 รูปแบบ แบบแรก คนที่เป็น Principle Investigator จะมีสิทธิ์ใช้ข้อมูลคนเดียวก่อนระยะนึง ก่อนที่จะเปิดสู่สาธารณะ ส่วนแบบที่สอง เป็นแบบ Early Release Science ทันทีที่บันทึกข้อมูลได้ ข้อมูลจะถูกเปิดเผยสู่สาธารณะทันที แต่ข้อดีก็คือข้อมูลแบบ Early Release Science นี้จะเป็นข้อมูลชุดแรกที่ JWST ทำการบันทึก ทุกวันนี้ JWST กำลังทยอยเก็บข้อมูลในส่วนของ Early Release Science ก่อนเท่านั้น

สำหรับงานวิจัยนี้อยู่ภายใต้โปรเจคที่มีชื่อว่า GLASS (Grism Lens-Amplified Survey from Space) เป็นโครงการประเภท Early Release Science  ทีมที่ศึกษาวิจัยนี้ จะได้เห็นข้อมูลพร้อมกับนักวิจัยทั่วโลก เพราะฉะนั้นการแข่งขันก็ยิ่งดุเดือดขึ้นอีก กลายเป็นว่าใครวิเคราะห์ข้อมูลก่อน ตีพิมพ์ก่อน ก็จะได้ผลงานก่อน

ครั้งนี้ จึงเปรียบได้กับเกมตามล่าแข่งกันหากาแล็กซีที่ไกลที่สุด ที่มีการแข่งขันในวงการดาราศาสตร์ค่อนข้างดุเดือด   ในส่วนของงานที่ณิชาทำ ก็คือเป็นคนรันโค้ดที่ใช้หาว่ากาแล็กซีนี้อยู่ไกลออกไปเท่าไหร่ ตามปกติในทางดาราศาสตร์กาแล็กซี เรามักจะใช้ค่า redshift (เรียกสั้นๆ ว่า z) หรือการเลื่อนทางแดงแทนระยะทาง เนื่องจากแสงของกาแล็กซีที่ไกลออกไป จะผ่านการขยายตัวของเอกภพมามากกว่า เลยมีแสงเลื่อนไปในทาง “สีแดง” มากกว่า เลยเรียกว่า redshift ซึ่งสอดคล้องกับระยะทาง แต่สามารถวัดได้ง่ายกว่ามาก
ปกติในการหา redshift นั้น เราจะต้องวัดจากสเปกตรัม แต่สำหรับกาแล็กซีที่จางมากๆ การวัดสเปกตรัมโดยตรงทำได้ยาก จึงต้องอาศัยการวัดความสว่างของกาแล็กซีในแต่ละช่วงความยาวคลื่นที่สังเกต แล้วนำไปเปรียบเทียบกับแบบจำลองเพื่อหาว่าสอดคล้องกับ redshift เท่าไหร่

เผยโฉมนักวิจัยไทย ร่วมค้นพบกาแล็กซีที่ไกลที่สุด ด้วยกล้องเจมส์ เว็บบ์

สิ่งที่พบก็คือ กาแล็กซีที่ redshift z=12.3 หรือไกลออกไป 13,500 ล้านปีแสงจากรูปถ่ายที่ลึกที่สุด (เปิดหน้ากล้องนานสุด) ในหมู่โครงการ Early Release Science ทั้งหมด ซึ่งถ้ามีการยืนยันในภายหลัง นี่จะนับว่าเป็นหนึ่งในกาแล็กซีที่ไกลที่สุด ลึกที่สุด ที่เคยมีการสังเกตการณ์กันมา ลึกกว่าภาพจากกระจุกกาแล็กซี SMACs 0723 ที่ปล่อยออกมาในส่วนหนึ่งของภาพแรกจาก JWST ทั้งห้าที่เราเห็นกันไปแล้ว ที่บอกว่ามีการแข่งขันที่ดุเดือดมาก เพราะมีอีกเปเปอร์หนึ่งถูกเผยแพร่ออกมาวันเดียวกัน ผู้เขียนนำเป็นนักวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นับเป็นโอกาสดีที่เราก็เจอกาแล็กซีนี้เหมือนกัน

cr. NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม thainewsonline