พระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษ 12 สิงหาคม

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา "พระราชทานอภัยโทษ" ในโอกาสมหามงคล 2 วาระพิเศษ ปี 2565 เช็กเงื่อนไข "ผู้ต้องโทษ" ชั้นเยี่ยม-ชั้นดีมาก-ชั้นดี ก่อนปล่อยตัว

วันที่ 12 สิงหาคม 2565 ราชกิจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนที่ 49 ก หน้า 1 ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2565 เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ. 2565

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตน เป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่ หรืออาศัยที่ศาล หรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนวันที่ศาลออกหมายสั่งหรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้ทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ และผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ

ครั้งนี้ ผู้ต้องโทษที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นดี หรือชั้นดีมาก หรือชั้นเยี่ยมเท่านั้น และต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามคำพิพากษา หรือไม่น้อยกว่า 8 ปี แล้วแต่ระยะเวลาใดจะเป็นคุณมากกว่า ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ จะมีทั้งกลุ่มผู้ต้องราชทัณฑ์ส่วนหนึ่งที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป และกลุ่มที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษจำคุกตามสัดส่วนที่กำหนด โดยแตกต่างกันตามประเภทความร้ายแรงของคดี และตามชั้นของนักโทษเด็ดขาด เช่น นักโทษเด็ดขาดคดีอาญาทั่วไป ชั้นเยี่ยม ได้รับการลดโทษ 1 ใน 4 ชั้นดีมาก ได้รับการลดโทษ 1 ใน 5 และชั้นดี ได้รับการลดโทษ 1 ใน 6 เป็นต้น

พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ รวมทั้งสิ้น 23 มาตรา โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของตน

พระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พระราชทานอภัยโทษ 12 สิงหาคม

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ thainewsonline