จารึกไว้ในก้นบึ้งแห่งจิตใจไปชั่วนิรันดร์!! พระเมรุมาศในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี

จารึกไว้ในก้นบึ้งแห่งจิตใจไปชั่วนิรันดร์!! พระเมรุมาศในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี

วันนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 26 ตุลาคม พศ.2560 ซึ่งถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่พสกนิกรชาวไทยทั่วทั้งประเทศจะต้อง...จดจำและจารึกไว้ในก้นบึ้งแห่งจิตใจไปชั่วนิรันดร์ จากงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่ในอดีต

 ประวัติศาสตร์ชาติไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมานั้น พระมหากษัตริย์นอกจากจะทรงเป็นผู้นำในการก่อตั้งพระราชอาณาจักรแล้ว ยังทรงทำนุบำรุงสร้างศิลปวัฒนธรรมและระเบียบประเพณีต่างๆ ในการดำรงชีวิตให้เป็นมรดกของชาติสืบทอดมา หลักฐานที่กล่าวถึงการจัดพระราชพิธีพระบรมศพที่เก่าแก่ที่สุดปรากฏอยู่ในหนังสือไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง หนังสือวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาเล่มแรกของชาติไทย ซึ่งพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือพญาลิไท แห่งกรุงสุโขทัย ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อปีระกาพุทธศักราช 1888 พรรณนาการจัดการพระศพพระยามหาจักรพรรดิราชไว้
ครั้นถึงสมัยอยุธยาตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานเรื่องการพระบรมศพ เช่นเดียวกับสมัยรูปแบบของอยุธยาตอนกลาง ในพระราชพงศาวดารกล่าวถึงเฉพาะลักษณะพระเมรุมิได้กล่าวถึงรายละเอียดพระราชพิธี ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนปลาย ปรากฎหลักฐานในจดหมายเหตุพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พรรณนาเฉพาะการถวายพระเพลิงและการแห่พระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคารไปประดิษฐาน ณ พระอารามหลวง และงานพระบรมศพสมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชา พรรณนารายละเอียดการพระราชพิธีพระบรมศพไว้ค่อนข้างละเอียด

“พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย ทรงได้รับการเทิดทูนเสมอด้วย “สมมติเทพ” ตามคติพราหมณ์เมื่อเสด็จพระราชสมภพ ถือเป็นเทพอวตาร คือ เทวดาจุติลงมาอุบัติบนโลกมนุษย์ ครั้นเมื่อเสด็จสวรรคตจึงถือเป็นการเสด็จกลับสู่สวรรค์”

 พระราชพิธีอันเกี่ยวเนื่องกับพระบรมศพจึงถือเป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติอย่างสูงสุด
การพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นโบราณราชประเพณีที่มีแบบแผนธรรมเนียมมาแต่ครั้งสมัยอยุธยาตอนปลาย มีความสำคัญทัดเทียมกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดปลีกย่อยของพระราชพิธีต่างๆ อยู่บ้างตามยุคสมัยและสภาวะของสังคม แต่ยังคงยึดถือคติตามที่กล่าวในไตรภูมิกถาอยู่อย่างมั่นคง มีการประดิษฐานพระบรมศพบนพระเมรุมาศ ซึ่งเปรียบเสมือน “เขาพระสุเมรุ” ล้อมรอบด้วยเขาสัตตบริภัณฑ์ เพื่อเป็นการส่งดวงพระวิญญาณกลับสู่สรวงสวรรค์อันเป็นที่สถิตของเทพยดาทั้งหลาย มีการประกอบพระราชพิธีอย่างยิ่งใหญ่อลังการ เริ่มตั้งแต่การสรงน้ำพระบรมศพ การเชิญพระบรมศพประดิษฐานในพระบรมโกศ การบำเพ็ญพระราชกุศล การเชิญพระบรมศพจากพระบรมมหาราชวงั มาประดิษฐาน ณ พระเมรมุาศท้องสนามหลวง การถวายพระเพลิงพระบรมศพการเชิญพระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคารกลับสู่พระบรมหาราชวัง ลำดับพระราชพิธีเหล่านี้มีแบบแผนธรรมเนียมปฏิบัติสืบทอดมาแต่โบราณ และการเตรียมการต้องใช้เวลานานหลายเดือน
หลังจากเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว จึงจัดให้มีการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นประจำทุกวัน และพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล ครบ 7 วัน (สัตตมวาร) ครบ 15 วัน (ปัณรสมวาร) ครบ 50 วัน (ปัญญาสมวาร) และครบ 100 วัน (สตมวาร) การบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทภายใน พระบรมมหาราชวังในแต่ละวัน จะมีพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาบำเพ็ญพระกุศล จนครบ 100 วัน แต่ละวันมีการสวดพระอภิธรรมโดยพระพิธีธรรมจากพระอารามหลวง 10 แห่ง ได้แก่ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดจักรวรรดิราชาวาส วัดสระเกศ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดประยุรวงศาวาส วัดอนงคาราม วัดราชสิทธาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร โดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ขณะที่พระพิธีธรรมแต่ละพระอารามจะใช้ทำนองสวดแตกต่างกัน ปัจจุบันมี 4 ทำนอง คือ ทำนองกะ ทำนองเลื่อน ทำนองลากซุง และทำนองสรภัญญะ
นอกจากนี้ ยังมีการประโคมย่ำยามในงานพระบรมศพ หรือพระศพ ซึ่งเป็นราชประเพณีโบราณ เพื่อเป็นสัญญาณให้ข้าราชการรู้กำหนดเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ การประโคมย่ำยามนี้ใช้ในงานมีพระบรมศพ และพระศพพระราชวงศ์ ขุนนางผู้ใหญ่ แต่เดิมดนตรีที่ใช้ประโคมย่ำยามมีเฉพาะวงแตรสังข์ และวงปี่ไฉน กลองชนะ โดยกำหนดประโคมย่ำยามทุกสามชั่วโมง คือ เวลา 06.00 น. 12.00 น. 18.00 น. 21.00 น. และ 24.00 น. การประโคมนี้จะทำทุกวันจนครบกำหนดไว้ทุกข์ 100 วัน 2 เดือน 1 เดือน 15 วัน 7 วัน ตามพระเกียรติยศพระบรมศพ หรือพระศพ การประโคมย่ำยามพระบรมศพพระมหากษัตริย์ เครื่องประโคมจะประกอบด้วยมโหระทึก สังข์ แตรงอน เปิง และกลองชนะ หากเป็นพระศพ ไม่มีมโหระทึก
เมื่อถึงกาลอันควรคือสร้างพระเมรุมาศ หรือพระเมรุ ที่ท้องสนามหลวงเสร็จพร้อมที่จะถวายพระเพลิงได้ ก็จะเชิญพระบรมศพ พระศพจากพระบรมมหาราชวังไปยังท้องสนามหลวงเพื่อถวายพระเพลิง ณ พระเมรุมาศ ซึ่งสร้างเป็นพิเศษดังกล่าวแล้ว เรียกว่า “งานออกพระเมรุ”

การเชิญพระบรมศพ พระศพ สู่พระโกศ การบำเพ็ญพระราชกุศล ตลอดจนการสร้างพระเมรุมาศ พระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง การเคลื่อนพระบรมศพ พระศพ จากพระบรมมหาราชวังสู่พระเมรุ ที่ท้องสนามหลวง การตกแต่งพระจิตกาธาน การเชิญพระบรมอัฐิ พระอัฐิ พระบรมราชสรีรางคาร และพระสรีรางคารกลับเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง ล้วนมีแบบแผนกำหนดไว้เป็นแนวทางให้ปฏิบัติ
ขั้นตอนพระราชพิธีในแต่ละขั้นตอนดังกล่าว ต้องใช้เวลาเตรียมการเป็นแรมเดือน นับตั้งแต่การสร้างพระเมรุมาศ หรือพระเมรุ การดูแลและตกแต่งราชรถ ราชยาน คานหาม สำหรับเชิญพระโกศพระบรมศพ พระศพ พระบรมอัฐิ พระอัฐิ ตลอดทั้งเครื่องประกอบอื่นๆ ในการออกพระเมรุ เช่น พระโกศไม้จันทน์ เครื่องฟืนไม้จันทน์ พระโกศบรรจุพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ผอบบรรจุพระสรีรางคาร หรือ พระราชสรีรางคารทั้งนี้ไม่รวมเครื่องสดที่ประดับพระเมรุมาศ และงานแทงหยวกเป็นลวดลายประดับพระจิตกาธาน ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนการถวายพระเพลิงเพียงไม่กี่ชั่วโมง นอกจากนั้น ยังต้องมีการซ้อมริ้วขบวนในแต่ละจุด แต่ละพิธีการด้วย
ตามโบราณราชประเพณี พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือเรียกว่า “งานออกพระเมรุ” มีขั้นตอนการปฏิบัติที่ถูกกำหนดไว้อย่างมีแบบแผน การเตรียมการแต่ละขั้นตอนใช้เวลาหลายเดือนหรือนานนับปี เพื่อให้สง่างามสมพระเกียรติ โดยเฉพาะศูนย์กลางของพระราชพิธีถวายพระเพลิง คือ การก่อสร้างพระเมรุมาศ และเครื่องประกอบอื่นๆ ในการออกพระเมรุต้องมีการออกแบบให้เหมาะสม หากพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศเคยมีรับสั่งไว้เช่นไร จะต้องถือปฏิบัติตามนั้น ดังเช่นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานกระแสพระราชดำริ และมีพระบรมราชโองการให้จัดการพระเมรุพระบรมศพของพระองค์ไว้ว่า
“แต่ก่อนมา ถ้าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตลงก็ต้องปลูกเมรุใหญ่ ซึ่งคนไม่เคยเห็นแล้วจะนึกเดาไม่ถูกว่าใหญ่โตเพียงใด เปลืองทั้งแรงคน และเปลืองทั้งพระราชทรัพย์ ถ้าจะทำในเวลานี้ก็ดูไม่สมควรกับการที่เปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ไม่เป็นเกียรติยศยืนยาวไปได้เท่าใด ไม่เป็นประโยชน์แก่คนทั้งปวง กลับเป็นความเดือดร้อน ถ้าเป็นการศพท่านผู้ที่มีพระคุณ หรือมีบรรดาศักดิ์ใหญ่อันควรจะได้เป็นเกียรติยศ ฉันก็ไม่อาจจะลดทอน ด้วยเกรงว่าคนจะเข้าใจว่าเพราะผู้นั้นประพฤติไม่ดีอย่างหนึ่งอย่างใด จึงไม่ทำการศพให้สมเกียรติยศซึ่งควรจะได้ แต่เมื่อถึงตัวฉันเองแล้ว เห็นว่าไม่มีข้อขัดขวางอันใดเป็นข้อคำที่จะพูดได้ถนัด จึงขอให้ยกเลิกงานพระเมรุใหญ่นั้นเสีย ปลูกแต่ที่เผาพอสมควรในท้องสนามหลวง แล้วแต่จะเห็นสมควรกันต่อไป”

 

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอนุวัตตามรับสั่งของสมเด็จพระบรมชนกนาถ งานพระเมรุพระบรมศพในครั้งนั้น จึงต่างจากธรรมเนียมที่เคยมีมา พระองค์ทรงให้ประกาศการพระราชพิธีพระเมรุพระบรมศพในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ประชาชนทราบการเปลี่ยนแปลงนี้โดยทั่วกัน โดยอัญเชิญพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาประกอบด้วย ทั้งนี้งานพระเมรุพระบรมศพในครั้งนั้น นับเป็นต้นแบบของการสร้างพระเมรุมาศในสมัยต่อมา
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เริ่มจากงานพระราชกุศลออกพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในเวลาเย็น วันรุ่งขึ้นเจ้าพนักงานเปลื้องพระบรมโกศออกแล้วถวายตาด (ผ้าตาดทอง) คลุมพระลองเงินทรงพระบรมศพ แล้วเชิญลงจากพระแท่นแว่นฟ้าทอง ออกพระทวารด้านทิศตะวันตกลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปประดิษฐานเหนือพระยานมาศสามลำคานที่หน้าประตูกำแพงแก้วด้านตะวันตก เจ้าพนักงานประกอบพระบรมโกศภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แล้วเชิญพระบรมโกศออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูเทวาภิรมย์ ยาตรากระบวนพระบรมราชอิสริยยศไปตามถนนมหาราช ถนนพระเชตุพน ถนนสนามไชย เมื่อกระบวนถึงหน้าพลับพลายก วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม อัญเชิญพระบรมโกศขึ้นประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ เคลื่อนสู่ท้องสนามหลวงโดยยาตราไปตามถนนสนามไชย ถนนราชดำเนินเลี้ยวเข้าถนนพระจันทร์เทียบพระมหาพิชัยราชรถตรงถนนด้านทิศเหนือประตูราชวัตรของพระเมรุมาศ แล้วอัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระมหาพิชัยราชรถประดิษฐานบนราชรถปืนใหญ่เวียนอุตตราวัฏรอบพระเมรุมาศ จากนั้นอัญเชิญพระบรมโกศขึ้นสู่พระเมรุมาศเปลื้องพระโกศทองใหญ่แล้วอัญเชิญพระลองทรงพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระจิตกาธานยอดพระมหาเศวตฉัตร ประกอบพระโกศจันทน์
จากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปถวายพระเพลิงในช่วงเย็น วันรุ่งขึ้นอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานบนพระที่นั่งราเชนทรยาน และพระบรมราชสรีรางคารประดิษฐานบนพระที่นั่งราเชนทรยานน้อย ยาตราด้วยกระบวนพระบรมราชอิสริยยศจากพระเมรุมาศ ไปประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง การถวายพระเพลิง หรือ “ออกพระเมรุ” ในสมัยโบราณจะทำเป็นงานใหญ่แล้วแต่กำหนดตั้งแต่ 3 วัน 5 วัน 9 วัน ถึง 15 วัน สุดแต่สะดวก ซึ่งในปัจจุบันพระราชพิธีจะมีขอบเขต คือ
วันแรก
เชิญพระบรมศพออกสู่พระเมรุด้วยขบวนพระบรมราชอิสริยยศขึ้นประดิษฐานบนพระเมรุมาศ
ถวายพระเพลิงพระบรมศพมีเครื่องประกอบพระราชพิธีและวิธีปฏิบัติเฉลิมพระเกียรติยิ่งใหญ่
วันที่สาม
สมโภชพระบรมอัฐิ
เมื่อถวายพระเพลิงแล้ว จะประกอบพระราชพิธีสามหาบตามหลักพระพุทธศาสนาแล้วเชิญพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ด้วยขบวนพระบรมราชอิสริยยศพระอิสริยยศสมโภชภายในพระบรมมหาราชวัง พระบรมอัฐิพระอัฐิจะบรรจุในพระโกศทองคำ แล้วประดิษฐานไว้บนพระมหาปราสาท จัดให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระบรมราชสรีรางคาร พระสรีรางคาร จะนำไปประดิษฐานไว้ยังพุทธสถาน พระอารามหลวงตามราชประเพณี

จารึกไว้ในก้นบึ้งแห่งจิตใจไปชั่วนิรันดร์!! พระเมรุมาศในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี

พระเมรุมาศในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

จารึกไว้ในก้นบึ้งแห่งจิตใจไปชั่วนิรันดร์!! พระเมรุมาศในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี

พระเมรุมาศในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

 

จารึกไว้ในก้นบึ้งแห่งจิตใจไปชั่วนิรันดร์!! พระเมรุมาศในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี

พระเมรุมาศในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

จารึกไว้ในก้นบึ้งแห่งจิตใจไปชั่วนิรันดร์!! พระเมรุมาศในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี

 พระเมรุมาศในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

 

จารึกไว้ในก้นบึ้งแห่งจิตใจไปชั่วนิรันดร์!! พระเมรุมาศในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี

 พระเมรุในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

 

จารึกไว้ในก้นบึ้งแห่งจิตใจไปชั่วนิรันดร์!! พระเมรุมาศในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี

พระเมรุในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ

 

จารึกไว้ในก้นบึ้งแห่งจิตใจไปชั่วนิรันดร์!! พระเมรุมาศในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ตามขนบธรรมเนียมโบราณราชประเพณี

พระเมรุในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

 

 

 

 

 

 

ขอขอบคุณท่านผู้เป็นเจ้าของเครดิตภาพที่ผู้เขียนได้นำมาจาก (อินเตอร์เน็ต)เพื่อใช้ในการแสดงประกอบเนื้อหาสาระข้อมูลนี้ค่ะ..และขอขอบคุณที่มา : หนังสือ ราชรถ ราชยาน ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ กรมศิลปากร/ศูนย์ข้อมูลข่าวสาร สํานักพระราชวัง และข้อมูล(บางส่วนจาก) อินเตอร์เน็ต ค่ะ
เรียบเรียงโดย:โชติกา พิรักษา และ ศศิภา ศรีจันทร์ ตันสิทธิ์