ทนายเกิดผล สะท้อนเคส "อดีตผกก.โจ้" แม้หงายการ์ดป่วยทางจิต อย่าคิดว่าจะรอดคุก

ทนายเกิดผล สะท้อนเคส "อดีตผกก.โจ้" แม้หงายการ์ดป่วยทางจิต อย่าคิดว่าจะรอดคุก

เกิดผล แก้วเกิด ทนายความชื่อดัง แห่งสำนักงานกฎหมาย ได้ออกมาเผยถึงคดีโจ้ สืบเนื่องจากกรณีที่ "พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล" หรือ "ผู้กำกับโจ้"หนึ่งในผู้ต้องหาที่ร่วมกันทำร้ายและใช้ถุงคลุมศีรษะผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต มีกระแสข่าวถึงประวัติการรักษาอาการป่วย โรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว มาระยะหนึ่งแล้ว

อีกทั้งยังมีการลือกันว่า ในสมัยที่ "ผู้กำกับโจ้” มียศเป็นร้อยตำรวจเอก ได้เคยกระโดดบีบคอสารวัตรหญิงคนหนึ่ง เพียงเพราะเธอเช็กชื่อว่า เขาขาดไม่ไปร่วมอบรมสัมมนาในต่างจังหวัด ขณะที่ภายนอกของตำรวจหนุ่มรายนี้ดูสุภาพเรียบร้อย

 

ทนายเกิดผล สะท้อนเคส อดีตผกก.โจ้

 

หลังจากที่มีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ก็ทำให้ผู้หลายต่อหลายคนที่ได้ยินข่าวเกิดความกังวลว่า อดีตผู้กำกับรายนี้อาจจะหยิบประเด็นอาการป่วยทางจิตมาต่อสู้ในชั้นศาลหรือไม่!?!

“ตอนนี้เป็นเพียงกระแสข่าวเฉยๆ ยังไม่มีใครยืนยัน มันขึ้นอยู่กับฝ่ายจำเลยว่าอดีตผู้กำกับโจ้จะต่อสู้ว่าตัวเองป่วยรึเปล่า ถ้าเขาต่อสู้ว่าตัวเองป่วยในขณะนั้น ศาลเขาจะตั้งคณะแพทย์จิตเวชขึ้นมา เพื่อตรวจสุขภาพจิตของผู้กำกับโจ้และประเมินว่า ในวันที่ผู้กำกับโจ้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับ กระทำความผิดใช้ถุงดำคลุมผู้ตาย ตอนนั้นเขาป่วยมั้ย และป่วยขนาดไหน

 

ลาซาด้า

 

นอกจากผู้กำกับโจ้จะอ้างว่าเคยป่วย เคยรักษา ทีมจิตแพทย์จะสอบประวัติ ตรวจอาการพอสมควรเลยนะ ไม่ใช่วันสองวันด้วย จนกว่าคณะแพทย์จะมีความเห็นวินิจฉัยชี้ขาดได้ว่าป่วยหรือไม่ป่วย

ถ้าเขาป่วยจริงมันจะมี 2 ส่วน คือป่วยถึงขนาดเขาไม่รู้สึกตัวเลย เราเรียกว่าจิตวิปลาสหรือคนบ้า อันนั้นไม่ต้องรับผิด แต่ถ้าป่วยแบบรู้ผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง แต่ยับยั้งตัวเองไม่ได้ อันนี้ทางกฎหมายบอกว่า ศาลจะลงโทษน้อยกว่ากฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ ดังนั้นศาลจะต้องตรวจสอบก่อนครับ”

 

ทนายเกิดผล สะท้อนเคส อดีตผกก.โจ้

 

ทนายเกิดผลให้ข้อมูลเพิ่มเติม สำหรับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเด็นของอาการป่วยทางจิตกับการดำเนินคดีนั้น ปรากฏอยู่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65

“มีอยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 ครับ มันบัญญัติไว้ประมาณว่า ขณะกระทำความผิด ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลวิกลจริต สติฟั่นเฟือน วิปลาส ไม่รู้ตัวเอง การกระทำของผู้กระทำไม่เป็นความผิด นี่คือวรรค 1

แต่วรรค 2 บอกว่า แต่ถ้าขณะกระทำความผิดยังรู้ผิดชอบชั่วดีอยู่บ้าง ศาลจะลงโทษน้อยกว่ากฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ ป่วยจริงแต่ยังรู้สึกตัวอยู่ ต้องถูกดำเนินคดีต่อไป

จะมีบทลงโทษอย่างไร ถ้าศาลพิพากษาว่าไม่ป่วยก็ลงโทษเต็ม แต่ถ้าพิพากษาว่าป่วย ศาลก็ลงโทษเท่าที่ศาลเห็นว่าควรจะลงโทษแต่อาจจะน้อยกว่ากฎหมายกำหนดก็ได้ เช่น กฎหมายกำหนดไว้ว่าฆ่าคนตาย อัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ศาลอาจจะลงโทษ 2 ปี 3 ปีก็ได้ แล้วแต่ครับ”

 

ทนายเกิดผล สะท้อนเคส อดีตผกก.โจ้

 

สำหรับสุขภาพจิตของผู้กำกับโจ้และพวกที่ร่วมก่อเหตุนั้น รับการเปิดเผยจาก ณรงค์ จุ้ยเส่ย ผู้บัญชาการเรือนจำกลางพิษณุโลก ว่าผลการตรวจของแพทย์จิตเวชคือ ผู้ต้องขังกลุ่มนี้ มีความเครียด นอนไม่หลับ มีปัญหาเรื่องการปรับตัว มีภาวะซึมเศร้าเล็กน้อย จิตแพทย์ได้จ่ายยาคลายเครียด ยาแก้อาการซึมเศร้า ยานอนหลับให้

อ้าง "ไบโพลาร์" ไม่ช่วยให้รอดคุก

นอกจากนี้ กูรูกฎหมายยังได้ยกตัวอย่างถึงคดีดังในอดีตเมื่อ 10 กว่าปีก่อน คือเหตุการณ์ที่ กัณฑ์พิทักษ์ ปัจฉิมสวัสดิ์ หรือ "หมูแฮม"บุตรชายของ กัณฑ์เอนก ปัจฉิมสวัสดิ์ และ สาวิณี ปะการะนัง อดีตนางสาวไทยปี 2527 เป็นจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา, พยายามฆ่าผู้อื่น และทำร้ายร่างกายผู้อื่นทำให้ได้อันตรายแก่กาย

คดีนี้ผู้กระทำผิดก็มีประเด็นของของอาการป่วยทางจิตเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งทนายเกิดผล ก็ได้ทำหน้าที่เป็นทนายโจทก์ร่วมที่ 3 ของเหตุการณ์นี้อีกด้วย

 

ทนายเกิดผล สะท้อนเคส อดีตผกก.โจ้

 

“กรณีนี้มันเคยมีข้อต่อสู้แบบนี้เหมือนกันครับ คดีล่าสุดที่ผมเป็นทนายความก็คือคดีของหมูแฮม ซึ่งหมูแฮมขับรถชนคนตายก็อ้างว่าป่วยเป็นไบโพลาร์เหมือนกัน ศาลฎีกาก็เชื่อว่าเป็นไบโพลาร์ แต่ยังรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่ แล้วก็พิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญาครับ”

 

ทนายเกิดผล สะท้อนเคส อดีตผกก.โจ้

เมื่อถามต่อว่า ในกรณีของผู้กำกับโจ้ หากมีประวัติการรักษาอาการป่วยทางจิตมาก่อนหน้านี้จริง จะสามารถยกมาพิจารณาร่วมกันกับคดีความที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ทางด้านของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายก็ให้คำตอบว่า “ไม่เพียงพอ”

“ไม่เพียงพอครับ มันต้องเกิดเหตุขณะนั้น ขณะกระทำความผิดป่วยมั้ย เพราะบางคนมีประวัติรักษาก็จริงอยู่แต่อาจกินยา ไม่ป่วยก็ได้ หรือรักษาอยู่แล้วหายก็ได้

ถามว่ารอดมั้ย ถ้ามองว่ายกฟ้องเลยโดยไม่ผิดผมว่ายาก เพราะหลักฐานมันชัดเจน แต่ศาลจะลงโทษหนักเบาแค่ไหน อาจจะขึ้นอยู่กับจำเลยต่อสู้ว่า จำเลยทำลงไปเพราะอะไร เท่าที่ผมสังเกตนะจำเลยสู้ด้วย 3 แนวทาง

ประการแรก จำเลยอาจจะสู้ว่า ไม่ได้เจตนาฆ่า แค่ทำร้ายแต่พลั้งมือหนักไปหน่อย

ประการที่ 2 จำเลยอาจจะต่อสู้ว่า กระทำโดยประมาท ไม่ระมัดระวังให้ดีพอ

ประการที่ 3 จำเลยอาจจะต่อสู้ว่า เจ็บป่วยเป็นโรคไบโพลาร์ ก็ได้ครับ”

สุดท้าย ทนายเกิดผล ย้ำถึงข้อที่หลายคนสงสัยว่า หากเรามีปัญหากับผู้ป่วยทางจิต จะดำเนินคดีได้หรือไม่ เขากล่าวว่า หากคู่กรณียังตอบโต้รู้เรื่อง ก็สามารถเอาผิดได้

“ถ้าเขาป่วยถึงขนาดกลายเป็นคนบ้าไปเลย ไม่รู้ว่าอะไรคือคนหรือต้นไม้ ไม่เข้าใจการกระทำของตัวเองด้วยว่ากำลังทำอะไร แบบนี้เอาผิดผู้ป่วยประเภทนี้ไม่ได้จริงๆ เพราะการกระทำความผิดมันต้องเกิดจากการรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดีก่อน รู้ว่ากำลังทำอะไร แต่ถ้าเขารู้ตัวอยู่บ้าง เช่น พูดคุยรู้เรื่อง ไม่ได้วิปลาสหรือฟั่นเฟือน แบบนี้ยังเอาผิดได้ทางแพ่งทางอาญาอยู่ครับ”


ทนายเกิดผล สะท้อนเคส อดีตผกก.โจ้

ชมคลิป

 

ลาซาด้า