ย้อนรอย! "ประเพณีจรดพระนางคัลแรกนาขวัญ" ...ในหลวงร.๙ ทรงฟื้นฟู  ด้วยพระมหากรุณาต่อเกษตรกรไทยราชประเพณีแต่โบราณ ที่ว่างเว้นมานาน

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

ย้อนรอย! "ประเพณีจรดพระนางคัลแรกนาขวัญ" ...ในหลวงร.๙ ทรงฟื้นฟู  ด้วยพระมหากรุณาต่อเกษตรกรไทยราชประเพณีแต่โบราณ ที่ว่างเว้นมานาน

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีสิริมงคล เพื่อบำรุงขวัญแก่เกษตรกร จึงเป็นวันที่มีความสำคัญ โบราณจารย์จึงได้วางหลักเกณฑ์ให้ประกอบพิธีในวันดีที่สุดของแต่ละปี ประกอบด้วย ขึ้นแรม ฤกษ์ยาม ให้ได้วันอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์แต่ต้องอยู่ในระหว่างเดือน 6 โดยมีประเพณีต้องหาฤกษ์ตามตำราทางจันทรคติ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงไม่ได้กำหนดวันเวลาไว้ตายตัวตามปรกติแล้วจะตกอยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคม การที่ต้องกำหนดให้อยู่ในเดือน 6 ก็เพราะเดือนนี้เริ่มจะเข้าฤดูฝนเป็นระยะเวลาเหมาะสมสำหรับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จะได้เตรียมทำนาอันเป็นอาชีพหลักสำคัญของชาวไทยมาแต่โบราณ

เมื่อโหรหลวงคำนวณได้วันอุดมมงคลพระฤกษ์ที่จะประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว สำนักพระราชวังจะได้ลงไว้ในปฏิทินหลวงที่พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ทุกปี และได้ลงกำหนดไว้ว่า วันใดเป็นวันพืชมงคล วันใดเป็นวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันแรกนาขวัญเป็นวันสำคัญของชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติให้หยุดราชการ 1 วัน และมีประกาศให้ชักธงชาติตามระเบียบทางราชการ

ส่วนงานพระราชพิธีพืชมงคลเป็นส่วนประกอบเพื่อสิริมงคลแก่พันธุ์พืชสำหรับนำไปใช้ในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยจะกำหนดงานก่อนวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 1 วัน ในวันดังกล่าวมีอ่านประกาศถึงความสำคัญที่จะเริ่มพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และในประกาศนั้นอ้างหลักธรรมทางพุทธศาสนาสมัยพุทธกาลคราวเกิดฝนแล้ง ด้วยพุทธานุภาพทรงบันดาลให้ฝนตก ทำนา ทำไร่ หว่านพืชผลได้ตามปรกติ และกล่าวถึงตำนานการสร้างพระคันธาราษฎร์อันเกี่ยวด้วยพุทธานุภาพที่ทรงบันดาลให้มีฝนตกจึงได้สร้างขึ้น ณ เมืองคันธาราษฎร์ครั้งอดีตกาล

แล้วประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกองค์ปฐมกษัตริย์ ที่ได้ทรงสร้างพระพุทธคันธาราษฎร์ขึ้นไว้เพื่อประกอบการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตามตำนานที่มีมาแต่โบราณกาล ซึ่งเป็นราชประเพณีที่ พระมหากษัตริย์ทรงอนุวัติจัดงานพระราชพิธีนี้สืบมา สุดท้ายประกาศถวายพระพรชัยมงคล และขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาเทพยดาทั้งปวง ประสิทธิประสาทให้พืชพันธุ์ธัญญาหารในราชอาณาจักรอุดมสมบูรณ์งอกงามเจริญดี ตลอดจนขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จบประกาศแล้ว พระสงฆ์ 11 รูปเจริญพระพุทธมนต์เป็นคาถาพิเศษสำหรับพืชมงคลโดยเฉพาะเพื่อเสกพืชพันธุ์ต่างๆ ที่ได้นำมาตั้งเข้าพิธีมณฑล มีข้าวเปลือกพันธุ์ต่าง ๆ ถั่วทุกชนิด ข้าวโพด งา ฟัก แฟง แตงกวา เผือก มัน ฝ้าย เป็นต้น

ย้อนรอย! "ประเพณีจรดพระนางคัลแรกนาขวัญ" ...ในหลวงร.๙ ทรงฟื้นฟู  ด้วยพระมหากรุณาต่อเกษตรกรไทยราชประเพณีแต่โบราณ ที่ว่างเว้นมานาน

โดยพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ทำในรัชกาลที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นพิธีพราหมณ์ตามแบบในสมัยอยุธยา ไม่มีพิธีสงฆ์ประกอบ ครั้นถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริโปรดให้มีพิธีสงฆ์ทางพระพุทธศาสนาร่วมประกอบในพิธีด้วย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารที่นำเข้ามาตั้งในมณฑลพิธี แล้วจึงนำไปไถหว่านในการแรกนาขวัญ เรียกพระราชพิธีในตอนนี้ว่า พืชมงคล เมื่อรวม 2 พิธีแล้ว เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นราชประเพณีสืบมาโดยจัดเป็นงาน 2 วัน วันแรกเป็นพระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ วันรุ่งขึ้นเป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้ปฏิบัติเป็นราชประเพณีตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2479 แล้วได้เว้นว่างไป ต่อมา พ.ศ. 2483 ทางรัฐบาลสั่งให้กำหนดมีการพระราชพิธีเฉพาะแต่พืชมงคล ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามราชประเพณีที่เคยปฏิบัติมา

 

ย้อนรอย! "ประเพณีจรดพระนางคัลแรกนาขวัญ" ...ในหลวงร.๙ ทรงฟื้นฟู  ด้วยพระมหากรุณาต่อเกษตรกรไทยราชประเพณีแต่โบราณ ที่ว่างเว้นมานาน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อฟื้นการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ รวมเป็นงานเดียวกับรัฐพิธีพืชมงคล เพื่อรักษาโบราณราชประเพณีอันเป็นมิ่งขวัญแก่เกษตรกรไว้สืบไป ในชั้นแรกยังเรียกว่า "รัฐพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" จนถึง พุทธศักราช ๒๕๐๖ จึงเปลี่ยนมาเรียกว่า "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" ดังเดิม โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีรวม ๒ วัน วันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันที่สองที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีและทรงเป็นประธานในพระราชพิธีเสมอมา เว้นแต่มีพระราชกิจอื่น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกิจแทน

ย้อนรอย! "ประเพณีจรดพระนางคัลแรกนาขวัญ" ...ในหลวงร.๙ ทรงฟื้นฟู  ด้วยพระมหากรุณาต่อเกษตรกรไทยราชประเพณีแต่โบราณ ที่ว่างเว้นมานาน

          ลำดับการพระราชพิธีมีดังนี้

 

          วันแรก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงพระสุหร่าย ถวายดอกไม้บูชาพระคันธารราษฎร์ ทรงอธิษฐานเพื่อความสมบูรณ์แห่งพืชผลของราชอาณาจักรไทย พระมหาราชครูพิธีอ่านประกาศพระราชพิธี พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ทรงหลั่งน้ำสังข์ ทรงเจิมพระยาแรกนาและเทพีผู้จะแรกนาขวัญ พระยาแรกนาและเทพีผู้มีหน้าที่ในการจรดพระนังคัลนี้ ในระยะแรกกระทรวงเกษตรได้ขออนุญาตให้อธิบดีกรมการข้าวเป็นพระยาแรกนา เทพีทั้ง ๔ เป็นกุลสตรีที่อยู่ในฐานะเข้าเฝ้า คณะผู้ทำหน้าที่แรกนาในปีแรก (พุทธศักราช ๒๕๐๖) ที่ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้แก่

          พระยาแรกนา หม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ อธิบดีกรมการข้าว (ภายหลังได้รับพระราชทานอิสริยยศเป็น พระองค์เจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ)

          เทพีทั้ง ๔ ได้แก่

          คุณหญิงโฉมศรี โกมารกุล กำภู ภริยาหม่อมหลวงชูชาติ กำภู อธิบดีกรมชลประทาน

          นางพิมะลา กุญชร ณ อยุธยา ภริยานายวิเชียร กุญชร ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงเกษตร

          หม่อมราชวงศ์หญิงนฤมล เกษมสันต์ พิชัยสนิท ธิดาหม่อมหลวงลักษณากร เกษมสันต์ ผู้เชี่ยวชาญประจำกระทรวงเกษตร

          และหม่อมราชวงศ์หญิงอรพรรณ จักรพันธุ์ ธิดาหม่อมเจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ อธิบดีกรมการข้าว (เทพีนี้ภายหลังเปลี่ยนเป็นข้าราชการกระทรวงเกษตร)

 

          วันที่สอง พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปประทับยังพลับพลาท้องสนามหลวง พระยาแรกนาและเทพียาตราออกจากโรงพิธีพราหมณ์ มีราชบัณฑิตและพราหมณ์นำไปสู่ที่แรกนา มีการไถดะ ไถรี ไถกลบ อย่างละ ๓ รอบตามแบบอย่างที่มีมาในสมัยโบราณ

 

          นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยของกรมศิลปากรได้อธิบายไว้ว่า ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลนั้น แต่เดิมจะมีวงปี่พาทย์บรรเลงเพลงกลม ในขบวนแห่พระยาแรกนา แต่ระหว่างที่พระยาแรกนาประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตลอดเวลาไถ เวลาหว่าน ฯลฯ ดนตรีปี่พาทย์มิได้บรรเลงเพลงแต่อย่างใด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงปรารภกับพระมหาราชครูวามเทพมุนีว่า พระราชพิธีเงียบเหงาเกินไปให้พระมหาราชครูวามเทพมุนีแจ้งแก่นายมนตรี ตราโมท ให้พิจารณาหาทางบรรเลงดนตรีไทยเวลาที่พระยาแรกนาปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ นายมนตรีจึงได้บรรจุเพลงไว้ ดังนี้

          พระยาแรกนาอธิษฐานเลือกผ้านุ่ง ปี่พาทย์บรรเลงเพลง สาธุการ

          พระยาแรกนาเริ่มประกอบพิธีไถ ในการไถรี ๓ รอบแรก ปี่พาทย์บรรเลงเพลง เชิดฉาน

          พระยาแรกนาไถดะโดยขวาง ๓ รอบ ปี่พาทย์บรรเลงเพลง โคมเวียน

          พระยาแรกนาไถกลบโดยหว่านธัญพืชไปด้วย ปี่พาทย์บรรเลงเพลง ปลูกต้นไม้

          จบด้วยท้ายรัว กระบวนพระยาแรกนาออกจากโรงพิธีพราหมณ์ มายังพลับพลาพระที่นั่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายบังคมแล้วกลับ วงปี่ชวากลองชนะประโคมเพลงพญาเดิน

 

          พันธุ์ข้าวพระราชทาน

 

          หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูการจรดพระนังคัลในการพระราชพิธีพืชมงคลตามโบราณราชประเพณี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๓ แล้ว กรมวิชาการเกษตรได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำพันธุ์ข้าวนางมล ซึ่งกระทรวงเกษตรน้อมเกล้าฯ ถวายนำไปหว่านในแปลงนาสาธิตสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ต้นตระกูลข้าวพันธุ์ดี ใช้ในการพระราชพิธีนี้ และพระราชทานแก่ประชาชน มีชื่อเรียกโดยสามัญว่า "พันธุ์ข้าวพระราชทานพืชมงคลหรือพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน" พันธุ์ข้าวนี้มีทั้งพันธุ์ข้าวไร่ข้าวนาสวน ได้มีการส่งเสริมให้ปลูกในภาคต่างๆ เป็นข้าวพันธุ์ดีแพร่หลายไปทั่วประเทศนอกเหนือจากใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นประจำทุกปี

          ภายหลังจากเสร็จการพระราชพิธีที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาแรกนาและเทพีไปทำพิธีที่แปลงนาสาธิตในพระราชวังดุสิต เพื่อหว่านพันธุ์ข้าวในนาทดลอง และโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนเกษตรกรและสหกรณ์เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยใกล้ชิดด้วย

 

          พระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการที่ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้ ก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรทั่วประเทศ และเป็นผลให้การประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยเฉพาะการทำนาข้าวได้รับการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างดียิ่งตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเดชะพระบารมี ประเทศไทยยังครองความเป็นหนึ่งในการผลิตข้าวเลี้ยงชาวไทยและชาวโลก

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลที่มา : หนังสือพระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย กรมศิลปากรจัดพิมพ์เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ , กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร http://www.finearts.go.th/promotion/ , siamganesh.com