"อ.เจษฎ์"ตอบชัด เอาหนังยางรัดอาหารแล้วลงไปต้ม เสี่ยงมะเร็งจริงหรือไม่

"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ "ไม่ควรเอาหนังยางวง มารัดอาหารลงไปต้ม"

"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ระบุว่า

"ไม่ควรเอาหนังยางวง มารัดอาหารลงไปต้ม"

ได้รับคำถามมาจากนักข่าวช่อง PPTV ว่า ที่มีคำเตือนเกี่ยวกับการห้ามเอา "หนังยางวง" มารัดผัก รัดอาหาร ลงไปต้มในน้ำเดือด เช่น พวกผักต้มขายคู่กับน้ำพริกตามตลาดนัด เนี่ย มันอันตรายจริงใช่มั้ย ?

"อ.เจษฎ์"ตอบชัด เอาหนังยางรัดอาหารแล้วลงไปต้ม เสี่ยงมะเร็งจริงหรือไม่ คำตอบก็คือ "จริง" ครับ ในหนังยางวง มีสารเคมีอันตรายที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้อยู่หลายชนิด จึงไม่ควรเอาไปต้มให้โดนความร้อนโดยตรง แม้ว่าจะมีปริมาณน้อยก็ตามครับ

โดยเรื่องนี้ อาจารย์อ๊อด รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์และนักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เคยอธิบายไว้ในรายการข่าวเที่ยงช่องวัน (ดูลิงค์ด้านล่าง) ว่า หนังยางวงนั้น ทำจากยางพารา แล้วบดอัดผสมกับสารเคมีหลายชนิด เช่น พวกซัลเฟอร์ (กำมะถัน) เพื่อทำให้หนังยางมีความเหนียวและทนทาน แต่เมื่อถูกความร้อนมากกว่า 100 องศาเซลเซียส (เช่น ในน้ำต้มเดือด) จะทำให้สารเคมีในหนังยางปนเปื้อนมากับอาหารได้ หากกินเข้าไปจำนวนมาก หรือมีการสะสมอยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน จะเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้ เช่น เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง

สอดคล้องกับที่เพจ "เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว" ได้เคยอธิบายไว้โดยละเอียด สรุปได้ดังนี้

"อ.เจษฎ์"ตอบชัด เอาหนังยางรัดอาหารแล้วลงไปต้ม เสี่ยงมะเร็งจริงหรือไม่

- หนังยางทำจากยางพาราธรรมชาติ แต่ก็มีสารเติมแต่ง ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ถ้าสัมผัสกับอาหารที่ได้รับความร้อนโดยตรง

- ในกระบวนการผลิตนั้น จะมียางก้อนที่ได้จากต้นยางพารา แล้วใช้สารเคมีอื่น มาทำการเชื่อมขวาง (ครอสลิงค์ crosslink) เพื่อให้ใช้งานได้ในอุณหภูมิที่กว้างมากขึ้น และมีสมบัติเชิงกล (mechanical properties) ที่ดีขึ้น

- การครอสลิงค์ยางพารา หรือที่มีชื่อเฉพาะว่า “การวัลคาไนซ์” (vulcanization) มักใช้กำมะถัน (ซัลเฟอร์) เป็นตัวเชื่อมขวาง ทำให้มีความยืดหยุ่นที่ดี จากพันธะไดฟอสไฟด์ (disulfide bond (ในรูปของ -S-S-) หรือพันธะโพลีฟอสไฟด์ (polysulfide bond)

- นอกจากจะใช้กำมะถันแล้ว ยังมีการใช้สารกระตุ้นและสารเร่งปฏิกิริยา ได้แก่ ซิงค์ออกไซด์ (ZnO) /สารประกอบไดไธโอคาร์บาเมต (dithiocarbamate)/ ไธอาโซล (thiazole) /และไทยูแรม (thiuram)

- ไขมันในอาหารและความร้อนจากการประกอบอาหาร สามารถทำละลายสารต่างๆ เหล่านี้ ให้ออกมาปนเปื้อนในอาหารได้ง่าย จึงควรต้องแกะหนังยางออกจากอาหารก่อน ที่จะนำไปประกอบอาหาร ไม่ให้หนังยางสัมผัสกับอาหารที่มีความร้อนโดยตรง